ในบทความนี้ เราได้รวบรวมบทความที่เป็นที่สุดของการแชร์ประสบการณ์การย้ายสายงานมาทำ Software Developer ในไทยด้วยตัวเองได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การลองไปฝึกงานในสายงานที่ตัวเองไม่ได้จบมา หรือการเข้าเรียน Coding Bootcamp
โดยแต่ละบทความ เราได้สรุป Key takeaway ที่น่าสนใจ (หากสนใจอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถกด Link ด้านล่างของแต่ละละบทความได้เลย)
เนื้อหาทั้งหมดรวบรวมมาจาก Community ในไทย โดยทางเราไม่ได้เป็นคนเขียนเนื้อหาในแต่ละบทความด้วยตัวเอง ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่สนใจย้ายสายงาน
2024: จาก Designer สู่ No-code Software developer
คุณ Nattaphorn อดีตเป็น UX Designer แล้ว ได้มีโอกาสลองใช้ No-Code platform จนปัจจุบันได้มีโอกาสมาทำงานใน Startup แห่งหนึ่งในฐานะ No-Code developer
คุณ Nattaphorn แชร์เรื่องเกี่ยวกับตัว No-Code platform (โปรแกรมที่เอาไว้สร้างเว็บไซต์ หรือ Application โดยไม่ต้องเขียนโค้ด) ว่ามีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เอาไว้ทำหน้าเว็บไซต์ เอาไว้จัดการฐานข้อมูล เอาไว้ทำ Bot ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือแต่ละแบบให้เหมาะสมกับงานถือเป็นหัวใจสำคัญ (ในบทความต้นทางพูดถึง Bubble.io เป็น No-Code Platform สำหรับสร้าง Website) โดย No-Code Platform เหมาะกับคนที่ไม่ถนัด Coding แต่เข้าใจการ Programing (Programing คือการสั่งการให้ระบบทำงานตามขั้นตอน) ทำให้สามารถสร้างผลงานออกมาได้ด้วยตัวเอง
โดยเขาก็ได้ใช้ No-Code Platform สร้างเว็บไซต์ที่เอาไว้สร้างและเก็บ Prompt ที่ใช้บ่อย ๆ อย่าง https://jellycoco.app/ จนได้มีโอกาสไปทำงานจริง ๆ ในฐานะ No-code Software developer ในบริษัทต่างชาติที่นึง
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ Reflect ประสบการณ์การเป็น No-code Software developer from 0 to 1
2023: จากวิศวกรรมไฟฟ้า สู่ Python Developer
แชร์ประสบการณ์คุณแจ็คกี้ จบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเองนอกเวลาเรียน จนได้มีโอกาสมาทำงานที่บริษัทด้าน AI ในตำแหน่ง Python Developer
คุณแจ็คกี้สนใจเรื่อง Coding ตั้งแต่สมัยเรียน แต่เหตุผลที่มาเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า (ตอนแรกลังเลระหว่างวิศวกรรมไฟฟ้า กับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์) เพราะคิดว่าการทำ Software เรียนรู้เพิ่มเติมเองได้ แต่ Hardware อาจจะต้องการการเรียนสายตรง และการทำ Lab ในมหาลัย ฯ จึงเลือกเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าเพราะคิดว่าน่าจะมีโอกาสในการทำงานมากกว่า
ในระหว่างเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าก็ได้มีโอกาสเขียนโค้ดบ้าง อย่างการทำ Image Processing หรือ Embedded System ซึ่งบางโปรเจคอาจจะไม่ได้ใช้ภาษาที่เป็นที่ต้องการในท้องตลาด แต่ก็เป็นทักษะการเขียนโปรแกรมเหมือน ๆ กัน
ตอนที่ออกมาสู่ตลาดงานจริง เขาก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อตามให้ทันความต้องการของตลาดงานเช่น Kubernetes, Docker, Jenkins, AWS และอื่น ๆ จนสามารถเข้าทำงานในตำแหน่ง Junior Python Developer ที่ AIGEN บริษัท Start up ด้านเทคโนโลยี AI และ Machine learning
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ แชร์ประสบการณ์ตรงของคนจบไม่ตรงสาย แต่ตัดสินใจทำงานสาย Tech
2023: จากพนักงานโรงงาน สู่การย้ายสายเป็น Software developer
คุณ Washira เริ่มงานในโรงงานนิคมอุตสาหกรรม แต่ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับ Pivot Table ของโปรแกรม Excel และลงลึกไปจนถึงการทำ Macro ที่ต้องเรียนรู้ภาษา VBA เพื่อเขียนโค้ดให้กับโปรแกรม Excel และค้นพบว่าตัวเองชอบ Coding
(ถ้าใครที่อยากรู้ว่าตัวเองชอบ Coding จริงมั้ย ? ให้ลองหาเครื่องมือที่ได้เขียนโปรแกรมในสายงานตัวเองดูก่อน เช่น MATLAB โปรแกรมคำนวนคณิตศาสตร์ หรือ VBA ในโปรแกรม Excel เป็นต้น)
พอรู้ว่าอยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ เขาเลยเริ่มต้นศึกษาด้วยตัวเองก่อน ผ่านการดู YouTube ของทั้งคนไทย และต่างประเทศ, เริ่มลงโปรแกรม Code Editor ต่าง ๆ เพื่อฝึกเขียนโค้ด และลองอ่านเว็บไซต์สอนเขียนโปรแกรม โดยบางช่วงก็ยอมตื่นเช้ากว่าปกติอีกนิด เพื่อฝึกเขียนโปรแกรมและอัปโหลดผลงานไว้บน GitHub จนสามารถสมัครงานเป็น Full Stack Developer ได้สำเร็จ
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ [รีวิว]เมื่อหนุ่มโรงงาน ย้ายสายไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์
2022: จบใหม่จากวิศวะอากาศยาน สู่การเป็น Backend Developer
คุณ Ruangyot เป็นเจ้าของเพจ Dancing with my code ที่จุดเริ่มต้นมาจากวิศวกรรมอากาศยาน แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากเป็น Software Developer ซึ่งเขาชอบเรียนรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยใช้เวลาหลังเลิกเรียนศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง
โดยเขาแนะนำว่าให้ลองดูตลาดงานว่าตอนนี้ภาษาอะไรเป็นที่นิยม แล้วค่อยฝึกทักษะตามนั้น โดยอาจจะศึกษาจาก 2023 Developer Survey by Stack Overflow ไว้เบื้องต้นก่อน
เขาเริ่มศึกษาด้วยตัวเองตั้งแต่ Frontend ไปจนถึง Backend จนรู้ว่าเขาชอบ Backend มากกว่า แล้วบังเอิญช่วงฝึกงานได้ มีโอกาสฝึก Coding กับทีม Software ของบริษัท แม้ตำแหน่งที่เขาทำจะไม่ได้เกี่ยวกับการทำ Software ก็ตาม จนในท้ายที่สุด ก็ยื่นขอทำงานที่บริษัทต่อ และได้เป็น Software Engineer สมใจ
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ เรียนจบมาไม่ตรงสาย แต่อยากเป็น Backend Developer ทำยังไงดี?
2018: จากการทำงานบริษัท Startup สู่การลาออกเพื่อมาเรียน Coding เต็มตัว
คุณ Kawin จบเกี่ยวกับด้าน Economic แต่ได้มีโอกาสทำงานในบริษัท Startup จนทำให้อยากเรียน Coding เพิ่มเติม (Fulltime 3 เดือน) เพื่อใช้ในการสมัครงานในอนาคต
โดยเขาเริ่มจากการเรียน Coding ผ่าน Intro to Computer Science ของ Udacity ซึ่งเป็นคอร์สพื้นฐานของการเขียนโปรแกรม คุณ Kawin ตั้งใจทำการบ้านทุกข้อโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (ปล. ผู้เขียนก็เรียนคอร์สนี้เหมือนกันดีมาก ๆ สอนตั้งแต่ Recursive ยัน Computational complexity) แม้ว่าเมื่อเรียนจบแล้ว อาจจะต้องหาความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติม แต่สิ่งที่ได้มาไม่ใช่แค่ความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการทำงาน แต่ได้ทักษะ problem solving ของการ Coding อีกด้วย
จากนั้นก็เป็นช่วงที่ค้นหาว่าตัวเองชอบตำแหน่งงานอะไรผ่านการลงเรียนคอร์สสั้น ๆ เกี่ยวกับ Tools, Framework หรือ Project Tutorial ที่เกี่ยวกับสายงานนั้น ๆ
- ถ้าอยากเป็น Frontend Developer ให้ลองทำเว็บไซต์ Portfolio หรือ Landing page
- ถ้าอยากเป็น Backend Developer ให้ลองออกแบบฐานข้อมูล และทำ API สำหรับร้านค้าออนไลน์
- ถ้าอยากเป็น Mobile Developer ให้ลองทำ Android Application สักตัว
ซึ่งช่วงเดือนที่ 2 นี้เอง จะเป็นช่วงที่รู้สึกว่ามีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ แม้จะรู้สึกกดดัน หรือกังวลจากการที่ต้องเรียนรู้หลายอย่าง แต่สุดท้ายแล้ว ทักษะหรือความรู้ที่ใช้ในการทำงาน ก็เกิดจากการสะสมประสบการณ์ทำงานอยู่ดี ฉะนั้นเน้นลองผิดลองถูก เรียนเพื่อให้มีพื้นฐานไปต่อยอดได้ในอนาคตต่อไป
และสุดท้ายแล้ว เมื่อเรียนตามขั้นตอนที่ผ่านมา ในความเป็นจริง ก็สามารถพอที่จะเริ่มทำงานได้ โดยในเดือนที่ 3 ให้ลองทำ Project ของตัวเองขึ้นมา ลองเอาสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ทำเป็นโปรเจคเก็บไว้ใน GitHub ของตัวเอง ระหว่างการทำ Project เราอาจจะเก็บตกความรู้อื่น ๆ ที่สนใจเช่น OOP, Design pattern รวมถึงไปการเข้าร่วมงาน Event / Community ของ Developer เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งในช่วงนี้ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มหางานแล้ว
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ละอ่อนใน 3เดือน
จบไม่ตรงสาย แต่อยากเป็น Developer ?
ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม มาเข้ากลุ่ม Facebook เพื่อแลกเปลี่ยน
และเรียนรู้เทคนิคดี ๆ กัน