อาชีพ Software Developer กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานปัจจุบัน ด้วยโอกาสในการเติบโต เงินเดือนที่สูง และความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ทำให้หลายคนสนใจที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางนี้ แต่คำถามสำคัญคือ จะเริ่มต้นอย่างไรดี? บทความนี้จะมาเปรียบเทียบ 3 วิธีหลักในการเริ่มต้นเส้นทางการเป็น Software Developer ของทุกคน
หมายเหตุ: Software Developer หมายถึงคนที่เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาโปรแกรมมิ่ง ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึง Web Developer เป็นหลัก คือคนเขียนโปรแกรมพัฒนาเว็บไซต์ แบ่งออกได้เป็น Frontend developer ทำเรื่องเกี่ยวกับหน้าตาบนเว็บไซต์ และ Backend developer ทำเรื่องเกี่ยวกับการจัดการและเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์
3 วิธีในการเริ่มต้นเป็น Software Developer
การเริ่มต้นเส้นทางอาชีพ Software Developer นั้นส่วนใหญ่จะต้องเคยเรียน หรือมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาก่อน ถึงจะพร้อมเริ่มทำงานได้ และส่วนใหญ่บริษัทที่รับคนเข้าทำงานเกือบทุกที่จะต้องมีการทำโจทย์ Coding เพื่อทดสอบความสามารถในการเขียนโปรแกรมและแก้ปัญหา ทำให้คนที่อยากย้ายสายงานมาทำด้านนี้อาจจะต้องเลือกเรียนรู้ด้วยวิธีเหล่านี้ก่อนเริ่มงานจริง ไปพร้อมกับการฝึกทำโจทย์ และทำพอร์ตเอาไว้โชว์ผลงานใน Linkedin และ GitHub
เรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-taught) ผ่าน คอร์สออนไลน์แบบฟรี (3 เดือน – 1 ปี)
เรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self taught) คือ การที่เราต้องกำหนดเป้าหมาย วางแผน และเริ่มเรียนด้วยตัวเองในเวลาว่าง โดยอาศัยเรียนเอาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้เรียนฟรี หรือจะซื้อหนังสือ ซึ้อคอร์สมาเรียนเองได้ เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมจนมั่นใจแล้วค่อยไปสมัครงาน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ
จุดเด่นของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- ไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มได้ทันที
การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านคอร์สออนไลน์ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถเริ่มต้นได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัดหรือต้องการทดลองเรียนก่อนตัดสินใจลงทุนในการศึกษาด้านนี้แบบเต็มตัว - ยืดหยุ่นเรื่องเวลา เหมาะกับคนทำงาน
เราสามารถจัดสรรเวลาเรียนได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเย็นหลังเลิกงาน วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือเวลาว่างใดๆ ทำให้เหมาะสมกับคนทำงานที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพหรือ ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเพื่อไปต่อยอดงานของตัวเอง - เลือกเรียนได้ตามความสนใจ
คอร์สออนไลน์ออกแบบมาเป็น Module เราสามารถเลือกเรียนตามความสนใจหรือสิ่งที่เราขาดได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเรียนเรื่องที่เราไม่ได้สนใจ หรือเข้าใจดีอยู่แล้ว ทำให้แม้แต่คนที่ทำงานเป็น Software Developer อยู่แล้วก็ยังกลับมาดูคอร์สเหล่านี้เพื่อทบทวนอีกทีได้เหมือนกัน - เนื้อหาทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด
คอร์สออนไลน์มักจะได้รับการอัปเดตอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีล่าสุด ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานปัจจุบัน
ข้อจำกัดของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- หัวข้อการเรียนค่อนข้างกระจัดกระจาย ทำให้ขาดโฟกัส
เนื้อหาการเรียนอาจไม่เป็นระบบ ทำให้ขาดโฟกัส (ทำให้ระยะเวลาการเรียนอาจจะตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 1 ปี ถ้าไม่มีเป้าหมายชัดเจน) เราจึงควรสร้าง Study Plan ของตัวเอง หรืออ้างอิงจากแผนการเรียนของผู้อื่น เช่น เว็บไซต์ roadmap.sh เป็นเว็บไซต์ที่แนะนำการเรียนรู้โดยอิงตาม Career Path (ซึ่งเพื่อให้มีพื้นฐานที่ดี เราควรเรียนทั้งพื้นฐานการเขียนโปรแกรม และภาษาโปรแกรมมิ่งที่ใช้ในการทำงาน) - ขาดแรงจูงใจในการเรียน
เรียนเวลาไหนก็ได้ อาจจะทำให้ขาดแรงจูงใจและล้มเลิกไปกลางคัน โดยข้อแนะนำคือ ให้หาเพื่อนเรียน (Study Buddy) , เข้าร่วมชุมชนผู้เรียนออนไลน์อย่าง ก้าวแรกสู่สาย Tech ฉบับคนจบไม่ตรงสาย หรือ เลือกคอร์สที่มีกำหนดเวลาชัดเจน เพื่อสร้างโครงสร้างและเป้าหมายในการเรียน - ส่วนใหญ่ไม่มีการบ้านและโจทย์ฝึกปฏิบัติ
การที่รูปแบบการเรียนนี้ไม่มีการบ้าน หรือโจทย์ให้ลองทำเหมือนระบบการเรียนอื่น จะทำให้เราไม่มีผลงานตอนไปสมัครงาน ดังนั้นระหว่างการเรียนรู้ เราควรจะทำ Portfolio และฝึกทำโจทย์การเขียนโปรแกรมเยอะ ๆ เพราะเป็นตัวชี้วัดความสามารถของเราที่บริษัทสามารถมองเห็นได้ (ในการสัมภาษณ์งานส่วนใหญ่จะใช้โจทย์เขียนโปรแกรมในการคัดคนเข้าทำงาน) - ขาดการแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ในวิชาชีพ
เราควรหา Mentorship เพื่อให้รู้ว่าควรต้องเรียนเรื่องอะไรบ้าง หรือเวลาติดปัญหาการเรียนจะได้สอบถามได้ เพราะการเรียนคนเดียวในเรื่องใหม่ ๆ จะค่อนข้างลำบากหากติดปัญหาการรันโปรแกรม แต่ถ้ายังไม่มี Mentor ปัญหาส่วนใหญ่มักจะมีคนตอบอยู่ที่ StackOverflow.com - ขาด Connection ในสายงานโปรแกรมเมอร์
การเรียนรู้คนเดียวอาจจะทำให้ไม่มีเพื่อนร่วมสายงานที่อาจจะแนะนำ หรือ Refer งานในอนาคต ควรหาโอกาสเข้า Networking หรือหากิจกรรมที่ได้เขียนโปรแกรม แล้วเจอเพื่อน ๆ พี่ ๆ ร่วมสายอาชีพเยอะ ๆ ก็จะช่วยให้หางานได้เหมือนกัน สำหรับงานอีเว้นท์โปรแกรมมิ่งในไทยสามารถดูได้ที่ Thai Tech Calendar
แนะนำแหล่งเรียนรู้เขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง
สำหรับคนที่สนใจเรียนรู้เขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง เรามีแหล่งเรียนรู้ฟรีที่คัดเลือกมาแล้วว่าฟรีจนจบโครงการและครบถ้วนพอที่จะสมัครงานได้ โดยระหว่างเรียนอาจจะเจอเรื่องที่ต้องเรียนเพิ่มอีกเพื่อเพิ่มความเข้าใจ ก็ให้เรียนเฉพาะที่เกี่ยวกับการทำ Web Development ก็พอ
เรียนพื้นฐานการเขียนโปรแกรมเพื่อปรับพื้นฐาน
พื้นฐานการเขียนโปรแกรมเหมาะแก่การเรียนรู้ว่าเราชอบมั้ย และเป็นส่วนที่สอนการคิดในการออกแบบและสร้างโปรแกรม ส่วนใหญ่จะใช้ Python เพราะ syntax ง่ายทำให้เราโฟกัสที่การทำความเข้าใจมากกว่าจดจำคำสั่ง โดยเราแนะนำให้เลือกเรียนคอร์สใดคอร์สนึงในนี้เป็นอย่างน้อยก่อนไปเรียนคอร์สอื่น ๆ จะได้มีพื้นฐานไปต่อยอดได้ง่ายกว่าข้ามไปเรียน Framework ต่าง ๆ เลย
Harvard CS50:
คอร์สพื้นฐานวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ดังมาก ๆ เปิดให้เรียนฟรีออนไลน์ จากที่ลองเรียนมา อาจารย์สอนสนุก พลังเยอะ ได้ลองเรียนหลายภาษา เช่น C, Python , SQL, HTML, JS, CSS ซึ่งทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร และไปเรียนต่อยอดให้เชี่ยวชาญได้
เว็บไซต์ Harvard CS50, CS50x YouTube (2023)
MIT : Introduction to Computer Science and Programming in Python
คอร์สเรียน Online จาก MIT ที่สอนพื้นฐานวิทยาการคอมพิวเตอร์โดยใช้ Python สอนอย่างเดียวทั้งคอร์ส มีทั้ง Video และ Lecture Note ให้ไปทบทวนได้ แต่เนื้อหาอาจจะไม่อัพเดต เท่า Harvard CS50 ที่มีการอัพเดตทุก ๆ ปี
เว็บไซต์ Introduction to CS and Programming using Python
เรียนเครื่องมือ และภาษาการเขียนโปรแกรมในการทำงานจริง
แค่พื้นฐานการเขียนโปรแกรมก็ยังไม่พร้อมการทำงาน เพราะเครื่องมือและสิ่งที่ใช้ทำงานจริงค่อนข้างเปลี่ยนไว แต่สำหรับ Web Developer ในตอนนี้ยังคงใช้ภาษา Javascript เป็นหลัก เพราะเป็นภาษาที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในฝั่ง Frontend และ Backend
Roadmap.sh
Roadmap.sh เป็น Guidebook ขนาดย่อม ๆ ที่รวบรวมบทเรียนออนไลน์ไว้เป็น Learning path เข้าด้วยกัน สามารถใช้อ้างอิงเพื่อการเรียนรู้ได้ โดยแต่ละ Module จะมีทั้งแบบบทความ และแบบวีดีโอ
Free Code Camp
แพลตฟอร์มการเรียนรู้เจ้าเดียวที่ฟรี 100% มีคอร์ส และโปรเจกต์มากมาย โดยมี Learning Track ให้ติดตามได้ง่าย
Track Frontend (HTML, CSS, JS)
- Responsive Web Design
- JavaScript Algorithms and Data Structures (Beta)
- Front End Development Libraries
Track Backend (JS, SQL)
ทาง FreeCodeCamp มีช่อง Youtube ที่เนื้อหาหลากหลายกว่าในเว็บไซต์
ฝึกทำโจทย์ Coding เพื่อฝึกแก้ปัญหาและใช้ภาษาโปรแกรมมิ่ง
หลังจากเรียนภาษาโปรแกรมมิ่งแล้ว ทางเดียวที่เราจะเก่งขึ้นได้คือการฝึกมันซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ผ่านโจทย์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้เราจะแนะนำ Codewar ที่เป็นแหล่งฝึกแก้โจทย์ Coding โดยแบ่งตามความยากง่าย (ควรฝึกเพื่อทำให้ได้ถึงระดับ 5 – 6 kyu สำหรับมือใหม่)
เรียนการทำ Project จริง เพื่อใช้เป็น Portfolio
การมี Portfolio แนบใน Linkedin, Resume หรือ GitHub จะช่วยให้บริษัทเห็นความสามารถในตัวเราได้ง่ายขึ้น โดยยิ่งโปรเจคยาก ยิ่งมีคนใช้งานจริง ยิ่งเป็นที่น่าสนใจมาก ๆ ในลิสต์จะรวบรวมโจทย์เอาไว้ฝึกทำได้ด้วยตัวเอง
เรียนรู้การใช้งาน Git & GitHub | สำหรับผู้เริ่มต้น [FULL COURSE]
Frontend Project
Frontend เน้นการสร้างหน้าเว็บไซต์จาก 0 ปรับแต่ง style ด้วย CSS ไปจนถึงการต่อเข้ากับ API โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจดังนี้
Backend Project
Backend จะเน้นการสร้าง REST-API และเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล เพื่อเป็นส่วนที่ให้ Frontend เอามาต่อเพื่อบันทึกและแก้ไขข้อมูลได้ โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจดังนี้
เรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัย (2 – 4 ปี)
หลักสูตรของมหาลัย คือ การเรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ใช้เวลาเรียน 2-4 ปี โดยเราจะเน้นพูดถึงหลักสูตรปริญญา และปริญญาตรีภาคพิเศษที่เรียนในวันเสาร์ – อาทิตย์หรือภาคค่ำนอกเวลางานเพื่อให้คนมีภาระงาน เรียนได้ มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 200,000 บาทขึ้นไปตลอดหลักสูตร ซึ่งใช้เวลานานกว่า แต่จะมี Connection ในสายงานมากกว่า รวมถึงการมีใบปริญญาที่บางบริษัทสาย Banking ยังให้ความสนใจในการคัดเลือกผู้สมัคร
จุดเด่นของหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
- หัวข้อการเรียนครอบคลุมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมีการออกแบบให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ ทำให้มีพื้นฐานความเข้าใจที่แข็งแกร่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผลทำให้ได้เปรียบในการทำโจทย์ Coding ตอนสัมภาษณ์งาน - เครือข่ายวิชาชีพและ Connection ที่กว้างขวาง
การเรียนในมหาวิทยาลัยช่วยสร้างเครือข่ายกับเพื่อนร่วมชั้น อาจารย์ และศิษย์เก่า ซึ่งเป็นประโยชน์ในการหางานหรือโอกาสทางอาชีพในอนาคต - โอกาสในการทำงาน หรือฝึกงาน
มหาวิทยาลัยมักมีโครงการความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ทำให้นักศึกษามีโอกาสได้ฝึกงานหรือทำงานในโครงการจริงระหว่างการเรียน ซึ่งหลาย ๆ คนก็ได้ทำงานตั้งแต่เรียนปีแรก ๆ เลยก็มี
ข้อจำกัดของหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
- ค่าใช้จ่ายสูงมาก
การเรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 200,000 บาทขึ้นไปตลอดหลักสูตร โดยค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน แต่บางที่จะมีทุนการศึกษาให้ โดยอาจจะมีเงื่อนไขการทำงาน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจ - เนื้อหาอาจไม่ทันสมัยเท่าที่ควร
บางครั้งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วเท่ากับความต้องการตลาดในปัจจุบัน ทำให้เครื่องมือหรือภาษาโปรแกรมที่เรียนอาจไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ก็จะเรียนเพิ่มเติมตามความสนใจอยู่ดี - ใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป
การเรียนมักใช้เวลา 2-4 ปี โดยอาจจะเลือกเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์หรือภาคค่ำนอกเวลางาน ซึ่งไม่เหมาะกับคนที่ต่างการย้ายสายงานในเวลาอันสั้น
ตัวอย่างหลักสูตรคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยในไทยที่สามารถเรียนนอกเวลางานได้
- วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ภาคพิเศษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
หลักสูตรปริญญาโทของ ธรรมศาสตร์ ใช้เวลาเรียน 2 ปี เรียนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 200,000 บาท โดยมีการปรับพื้นฐานให้สำหรับคนเรียนปริญญาตรีสายงานอื่น
เว็บไซต์รายละเอียดหลักสูตร - หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักสูตรปริญญาโทของ จุฬา ฯ ใช้เวลาเรียน 2 ปี (ค่าเรียนเริ่มต้นที่ 300,000 บาท) โดยสามารถแยกย่อยเป็นหลักสูตรย่อยได้ดังนี้- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SE)
เรียนการบริหารจัดการ และการพัฒนา Software ตาม Software Development Life Cycle เหมาะสำหรับคนที่อยากทำสาย Tech manager
เว็บไซต์รายละเอียดหลักสูตร - หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (CS)
เน้นเรียนเกี่ยวคอมพิวเตอร์ในภาพรวม ได้เรียนหลากหลายเช่น AI, Big Data, Software
เว็บไซต์รายละเอียดหลักสูตร - หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CM)
คล้ายกับโปรแกรม CS
เว็บไซต์รายละเอียดหลักสูตร
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SE)
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หลักสูตรปริญญาโทของมหิดล ใช้เวลาเรียน 2 ปี (ค่าเรียนประมาณ 300,000 บาท)
เว็บไซต์รายละเอียดหลักสูตร - วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ (CSIS) (NIDA )
หลักสูตรปริญญาโทของ NIDA ใช้เวลาเรียน 2 ปี (ค่าเรียนประมาณ 200,000 บาท) เน้นเรียนเกี่ยวคอมพิวเตอร์ในภาพรวม ได้เรียนหลากหลายเช่น AI, Big Data, Software
เว็บไซต์รายละเอียดหลักสูตร
เรียน Coding Bootcamp (3 – 4 เดือน)
Coding Bootcamp คือ หลักสูตรแบบเข้มข้น (โดยเอกชน) ที่มุ่งเน้นการสอนทักษะการเขียนโปรแกรมในระยะเวลาอันสั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการทำงานในสายอาชีพด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีจุดเด่นคือการให้ความช่วยเหลือในการหางาน
จุดเด่นของ Coding Bootcamp
- เน้นทักษะที่ใช้ในการทำงานจริงมากกว่าทฤษฏี
การเรียนการสอนใน Coding Bootcamp มุ่งเน้นไปที่การฝึกปฏิบัติและการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง โดยลดทอนเนื้อหาทางทฤษฎีลงบางส่วนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ทันที - ระยะเวลาการเรียนสั้น (3-4 เดือน)
หลักสูตรใช้เวลาเรียนเพียง 3-4 เดือนแบบเต็มเวลา ทำให้ผู้เรียนสามารถเริ่มต้นทำงานในสายนี้ได้อย่างรวดเร็ว - มีการสนับสนุนเรื่องการหางานหลังจบ Bootcamp
Coding Bootcamp จะมีบริการช่วยเหลือในการหางาน เช่น การแนะนำให้กับบริษัทพันธมิตรที่ร่วมโครงการ หรือการให้คำปรึกษาในการเขียน Resume เป็นต้น
ข้อจำกัดของ Coding Bootcamp
- ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 70,000 บาท ต่อหนึ่งหลักสูตร ถึงแม้ว่าจะโครงการช่วยหางานก็ตาม แต่อย่าลืมว่าเราต้องไปเริ่มงานในฐานะ Junior Software Developer ทำให้เมื่อเทียบกับ ค่าใช้จ่ายในการเรียน Bootcamp หรือเงินเดือนจากงานเดิม อาจจะไม่คุ้มค่ากับเงินเดือนในฐานะ Junior Developer ทำให้ต้องตัดสินใจดี ๆ - ต้องทุ่มเทเวลาในการเรียนเต็มที่
Coding Bootcamp ส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 – 4 เดือน ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะลาออกจากงานเพื่อมาเรียนโดยตรง ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่กล้าเรียนเพราะต้องลาออกจากงาน และขาดรายได้ไประยะเวลานึง - หลักสูตรไม่ได้มีการรับรอง หรือถูกควบคุมโดยสถาบันการศึกษา
Coding Bootcamp เป็นหลักสูตรจากเอกชนที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ไม่นาน ไม่มีการรับรองจากสถาบันการศึกษาใดใด ทำให้ต้องศึกษาเกี่ยวกับตัว Bootcamp ดี ๆ ถึงเรื่องชื่อเสียง หลักสูตรที่สอน และรีวิวจากผู้เรียนประกอบการตัดสินใจ - หลักสูตรสอนทั้ง Frontend และ Backend ผู้เรียนต้องไปพัฒนาทักษะเพิ่มต่อเอง
หลักสูตร Coding Bootcamp ส่วนใหญ่จะสอนให้เป็น Full Stack Web Developer (ทำได้ทั้ง Frontend และ Backend) แต่ความจริงแล้วส่วนใหญ่ในงานแรก ๆ ไม่ค่อยมีที่ไหนให้ Junior Developer ทำตำแหน่ง Full Stack เพราะเป็นตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์สูง ไม่เหมาะกับมือใหม่ เลยทำให้สุดท้ายแล้วตำแหน่งงานต้องเลือกเอาตามความถนัดของแต่ละคน (Frontend, Backend)
Coding Bootcamp ที่เปิดรับสมัครในไทย เราขอแนะนำให้อ่านบทความ แนะนำ 5 Software Developer Bootcamp สายไอทีในไทย เรียนเขียนโปรแกรมจบแล้ว ทำงานทันทีกับบริษัทพาร์ทเนอร์
เลือกเรียน Coding อย่างไรดี ? ความเห็นจากทีมงาน
เลือกเรียน Coding ให้เหมาะกับเป้าหมาย และเรียนรู้ข้อจำกัดของทางเลือกการเรียนรู้เพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายได้ โดยเรามีข้อสรุปดังนี้
- ต้องการความน่าเชื่อถือ และ Connection ในสายวิชาชีพควรเรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมีจุดเด่นในเรื่องของ Connection ในสายงานจากอาจารย์ และศิษย์เก่า มีใบ Certificate ของมหาลัยทำให้น่าเชื่อถือกว่าการเรียนแบบอื่น ซึ่งมีผลต่อการทำงานบางที่ที่ยังรับเฉพาะคนจบตรงสายเท่านั้น (โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม Banking) แต่ต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด - เริ่มต้นได้ฟรี ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองจนพร้อม ควรเรียนรู้ด้วยตัวเอง
เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่มันง่ายที่จะหลงทางว่าต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และยังต้องเตรียมตัวเองในเรื่องอื่น ๆ เอง เมื่อต้องสมัครงานจริง เช่นการทำ Portfolio การทำ Resume และ การหา Connection ในตลาดงาน สำหรับคนที่อาจจะสนใจเรียนเขียนโปรแกรมแต่ไม่ได้อยากทำเป็นอาชีพ หรืออยากอัพสกิลเพื่อไปทำงานเดิมได้ดีขึ้น การเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เพียงพอแล้ว - ต้องการเริ่มงานโปรแกรมเมอร์ให้เร็วที่สุด และมีเงินทุน ควรเรียน Coding Bootcamp
ถ้ามีเป้าหมายอยากเปลี่ยนสายงานทันทีควรเรียน Coding Bootcamp แต่เนื่องจากตลาดงานในไทยยังใหม่กับวงการ Coding Bootcamp กล่าวคือ Coding Bootcamp ในไทยส่วนใหญ่ก่อตั้งมาไม่ถึง 2 ปีจึงทำให้หลาย ๆ บริษัทอาจจะมีคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือ และคุณภาพของหลักสูตร ประกอบกับการเปิด Bootcamp ที่มากขึ้นในไทยในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นจึงควรวางแผนเรื่องการหางาน และเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ตัวเองโดดเด่น เมื่อเทียบกับเด็กจบใหม่ และเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน
ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละทางเลือก วางแผนการเรียนรู้และการหางานอย่างรอบคอบ การสร้าง Portfolio ฝึกทำโจทย์ และสร้างเครือข่ายในวงการ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเป็น Software Developer
สนใจเริ่มต้นเป็น Software Developer? เข้าร่วมกลุ่ม Facebook ก้าวแรกสู่สาย Tech ฉบับคนจบไม่ตรงสาย เพื่อพบเจอผู้ที่มีความสนใจเดียวกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์!
แหล่งอ้างอิง:
จบไม่ตรงสาย แต่อยากเป็น Developer ?
ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม มาเข้ากลุ่ม Facebook เพื่อแลกเปลี่ยน
และเรียนรู้เทคนิคดี ๆ กัน