คุณอาจจะเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ในเวลาเสาร์อาทิตย์ คุณก็เปิดเว็บไซต์เล็ก ๆ ขาย NFT หรือคุณอาจจะทำงานประจำเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ แต่ในช่วงวันหยุดคุณก็เขียนบทความให้กับเว็บไซต์สำนักข่าว ไม่ว่าคุณจะอยากทำงานนอกเพราะอยากหารายได้เสริม หรือตั้งใจจะทำ Side Project เพื่อให้เป็นธุรกิจที่ตัวเองสามารถลาออกจากงานเดิมมาทำสิ่งนี้ได้เต็มเวลา แต่สิ่งนึงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังคือข้อกำหนดของแต่ละบริษัทที่คุณทำงานอยู่ที่หลัก จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่จะมาชวนมาทำความเข้าใจสัญญาจ้างงานในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานนอกทั้งในเชิงกฏหมาย และในเชิงจรรยาบรรณในที่ทำงานเพื่อจะได้ไม่เป็นข้อพิพาทในภายหลัง
เข้าใจสัญญาจ้างพนักงานประจำโดยทั่ว ๆ ไป
สัญญาจ้างแรงงานโดยทั่ว ๆ ไป ตามประมวลกฏหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตราที่ 575 กล่าวว่า สัญญาจ้างแรงงานหมายถึงการว่าจ้างทำงานโดยชั่วโมงทำงานไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (สังเกตว่า สัญญาจ้างนี้ไม่ใช่จ้างผลสำเร็จของงานแต่ก็มีความคาดหวัง ว่าให้เวลาเท่านี้ งานก็ต้องเสร็จ) ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าสัญญาจ้างแรงงานโดยทั่ว ๆ ไปแล้วไม่ได้จำกัดสิทธิว่าพนักงานจะต้องสังกัดอยู่บริษัทเดียว หรือไม่ทำงานนอกเหนือเวลาทำงาน จึงทำให้คุณสามารถรับงานนอก หรือเริ่มทำ Side Project ของตัวเองได้ แต่สำหรับพนักงานประจำกฏทองสำหรับเรื่องนี้คือ ใจเขาใจเรา
ให้ลองนึกภาพว่าถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท เราให้พนักงานยืมอุปกรณ์มาทำงาน เพื่อให้ได้ผลของงานที่มีคุณภาพ รวดเร็วและสร้างกำไรได้อย่างงาม
แต่แล้วพนักงานของเรากลับเอาอุปกรณ์ของบริษัทนั้นไปใช้ทำงานเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งส่งผลให้อุปกรณ์นั้นเสื่อมเร็วขึ้น งานที่ได้รับมอบหมายก็ล่าช้ากว่าผิดปกติ คุณจะรู้สึกยังไงกับเรื่องนี้ ?
ดังนั้นโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว หากคุณยังเป็นพนักงานบริษัท และต้องการทำงานนอก หรือ ทำ Side Project เสริม ทางเราขอแนะนำว่า
- ไม่ใช้อุปกรณ์ทำงานของบริษัท ใช้อุปกรณ์ทำงานของตัวเองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Laptop, License Software รวมถึงความลับทางธุรกิจต่าง ๆ
- ทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องนอกเวลางาน ไม่ว่าจะเป็นหลังเลิกงาน หรือวันหยุด ซึ่งการจัดการเวลาที่ดีเป็นหัวใจสำคัญ (แต่ไม่ใช่ว่าไม่พักผ่อนจนไม่มีแรงไปทำงานประจำนะ)
- ไม่ทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในสถานที่ทำงานของนายจ้าง
สัญญาอื่น ๆ ที่มีผลต่อการทำ Side Project
แต่ในปัจจุบันพนักงานประจำส่วนใหญ่จะไม่ได้ตอบรับข้อตกลงในการทำงานแค่สัญญาจ้างงานเพียงอย่างเดียว แต่มีสัญญาอื่น ๆ ด้วย ซึ่งสัญญาเหล่านี้จะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่พนักงานนั้นอยู่ แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิตอล เช่นโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ นักการตลาด นักวิเคราะห์ข้อมูลล้วนต้องมีสัญญาเพิ่มเติมเหล่านี้ทั้งสิ้น เพราะงานที่พวกเขาทำเป็นงานที่ทำงานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
สัญญา Non Disclosure Agreement (NDA)
Non Disclosure Agreement หรือข้อตกลงห้ามเปิดเผยความลับเพื่อป้องกันไม่ให้ความลับทางธุรกิจถูกเปิดเผยไปสู่สาธารณะชนหรือแพ่งพรายไปสู่คู่แข่ง ข้อตกลงนี้หมายถึงการห้ามพูด หรือนำความลับนั้นไปใช้นอกเหนือจากประโยชน์ต่อบริษัทเอง ระยะเวลาการรักษาสัญญาหลังจากพ้นสภาพการเป็นพนักงานประจำแล้ว บริษัทส่วนใหญ่จะขอให้รักษาข้อตกลงนี้อย่างน้อย 3 ปีหลังจากเลิกจ้างงาน
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ผิดต่อสัญญา Non Disclosure Agreement (NDA)
คุณทำงานเป็น AE ของบริษัทเอกชน คุณทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าบริษัทมาก เมื่อสบโอกาสคุณจึงติดต่อไปหาลูกค้าบริษัท เพื่อเสนอบริการราคาพิเศษในราคาส่วนลด โดยแลกกับการที่ลูกค้าต้องจ่ายเงินให้กับคุณ แทนที่จะจ่ายเงินให้กับทางบริษัทหลักของคุณ
สัญญา Non Competitive Agreement (NCA)
Non Competitive Agreement หรือข้อตกลงห้ามทำการค้าแข่งกับนายจ้างไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ข้อตกลงนี้หมายถึง การห้ามทำงานนอก หรือ Side Project ที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการรับงานจากลูกค้าคนเดียวกัน หรือแม้แต่ การแอบเอาสินค้าของบริษัทไปขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ระยะเวลาการรักษาสัญญาหลังจากพ้นสภาพการเป็นพนักงานประจำแล้ว บริษัทส่วนใหญ่จะขอให้รักษาข้อตกลงนี้อย่างน้อย 3 ปีหลังจากเลิกจ้างงาน
ตัวอย่างสถานการณ์ที่เข้าข่ายผิดต่อสัญญา Non Competitive Agreement (NCA)
คุณเป็นนักการตลาดที่บริษัทขายอาหารสัตว์ทางออนไลน์ชื่อ Amber เนื่องจากคุณเป็นคนรักสัตว์และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อสบโอกาสเหมาะคุณจึงร่วมทุนกับเพื่อนเพื่อสร้าง Marketplace สำหรับอาหารสัตว์โดยรวบรวมผู้ขายอาหารสัตว์ทั้งเล็ก และใหญ่จากหลาย ๆ ที่ซึ่งเหมือนกับการไปแย่งลูกค้าบริษัทเดิมของคุณ แทนที่จะซื้อที่ AMBER เขาสามารถมาซื้อที่ Marketplace ของคุณแทน แถมได้ราคาที่ดีกว่า
สัญญา Invention Assignment Agreement
Invention Assignment Agreement หรือข้อตกลงลิขสิทธิ์การสร้างนวัตกรรมในบริษัท ข้อตกลงนี้หมายถึงสินค้า หรือบริการที่ถูกคิดค้น พัฒนาขึ้นในบริษัท ถูกว่าจ้างโดยบริษัท หรือใช้ทรัพยากรของบริษัท จะถูกนับรวมเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทไปโดยปริยาย
โดยข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่มีข้อพิพาทเยอะที่สุดในต่างประเทศ เพราะทุกสิ่งที่คุณคิดค้นตอนอยู่ที่บริษัท ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายมาให้ทำ หรือแค่บังเอิญอยากลองทำจะถูกนับรวมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจ้างทั้งหมด จนถึงขนาดที่ ถ้าคุณเป็นสตาร์ทอัพ นักลงทุนจะขอเอกสารที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า สตาร์ทอัพของคุณไม่ละเมิดข้อตกลงที่เกี่ยวกับ Invention Assignment Agreement ของนายจ้าง
ตัวอย่างสถานการณ์ที่เข้าข่ายผิดต่อสัญญา Invention Assignment Agreement
คุณเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ทำหน้าเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการสินค้า แต่ในระหว่างที่คุณทำงานที่บริษัท คุณได้เห็นปัญหาการทำงานร่วมกันของทีมในบริษัท คุณจึงทำซอฟแวร์ที่เป็นเครื่องมือที่ช่วย Collaboration เป็น Side Project หลังเลิกงาน ซึ่งซอฟแวร์ตัวนี้ได้ผลตอบรับดีมาก คุณเลยคิดว่าจะนำซอฟแวร์ตัวนี้มาเปิดเป็นธุรกิจตัวเอง
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกิดละเมิดสัญญา
ในการละเมิดข้อตกลงข้างต้นที่นอกเหนือจากสัญญาจ้างงานจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่สัญญาได้ระบุไว้ แต่ในส่วนสัญญา Non Disclosure Agreement (NDA) จะเกี่ยวข้องกับความผิดฐานเปิดเผยความลับ มาตรา 322-325 ตามประมวลกฏหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทส่งท้าย
เป็นยังไงกันบ้าง หวังว่าอ่านจบแล้ว จะได้มีโอกาสกลับไปดูสัญญาจ้างงานของตัวเองโดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ ข้อตกลงร่วมกัน “ ซึ่งหมายความว่าเราต่อรองได้ หรือคุณอาจจะโชคดีกว่านั้น ถ้าที่บริษัทมีนโยบายการสนับสนุนเงินทุน หรือทรัพยากรบางอย่าง ให้คุณสามารถทำ Side Project ของตัวเองได้อยู่แล้ว
มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?
หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก