“คนหาย”เป็นปัญหาสากลที่มาจากปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ และภัยพิบัติ ข้อสันนิษฐานการหายมักมีรูปแบบเปลี่ยนไปตามพลวัตสังคม คนหายที่ถูกบันทึกแจ้งความคนแรกไม่ใช่คนไทยแต่คือชาวอเมริกันวัย 27 ปีที่มาเรียนในประเทศไทยด้วยข้อสันนิษฐานว่า “ไม่ทราบสาเหตุ” จากนั้นอีก 4 ปีต่อมาถึงจะมีการแจ้งความคนหายรายที่สอง

แม้แต่ข้อมูลก็ยังหลอกตาเราได้

หากคุณเป็นผู้อ่านที่ช่างสงสัยอยากตรวจสอบที่มาของข้อมูลก่อนรับข้อมูล คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียดที่มา

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ -

บทนำร่อง

การป้องกันคนหายดีกว่าการตามหาคนหาย การตามหาคนหายเป็นเรื่องยากเพราะต้องใช้การสืบสวนสอบสวน และเก็บข้อมูลอย่างรัดกุม เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการตามตัว ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอก็ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นทั้งเจ้าหน้าที่สืบพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายด้านพาหนะที่ใช้ติดตามคนหาย ดังนั้นหากข้อมูลไม่เพียงพอในการสืบหาก็เท่ากับโอกาสที่เจอพอ ๆ กับโอกาสที่จะไม่พบ ผู้เสียหายก็ต้องทำใจยอมรับและหวังว่า โชคดี” จะนำพาให้ได้พบกันอีกครั้ง เราไม่อยากให้เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาจึงต้องการทำความเข้าใจกับปัญหาคนหายให้มากขึ้น

ในปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น แต่สถิติการหายตัวก็ยังมีเรื่อย ๆ วันนี้เราจึงได้ใช้ข้อมูล คนหาย” จากเว็บไซต์ ศูนย์บริการข้อมูลคนหาย และศพนิรนาม (police.go.th) นำมาเล่าด้วยความหวังว่าจะถ้าเรา เข้าใจ” ปัญหานี้ก็จะลดลง

ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องข้อมูล เราขอแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เกี่ยวข้องกับ คนหาย” ก่อน คืนหนึ่งในปี พ.ศ. 2555 เราดูทีวีโชว์กับครอบครัว ในวันนั้นรายการนำเสนอเรื่องราวของชายวัยกลางคนที่กำลังตามหาครอบครัวที่พลัดหลง เรื่องราวหลาย ๆ อย่างก็สอดคล้องกับคนใกล้ตัวที่แม่เรารู้จัก ดังนั้นแม่เราจึงรีบติดต่อคน ๆ นั้นทันที เหตุการณ์จะจบลงแบบไหนจะมาเฉลยในท้ายบทความกันนะคะ

รู้จัก คนหาย” พวกเขาคือใครกัน

ข้อมูลคนหายที่จะเล่าในบทความนี้ถูกรวบรวมเป็นระยะเวลา 51 ปี ตั้งแต่ปี 2512 ถึงปี 2563 ซึ่งได้มีการลงบันทึกรับแจ้งคนหายจำนวน 1,623 รายการ แต่ไม่ได้รวมถึงข้อมูลการพบคนหาย

เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ

จากข้อมูล 1,623 รายการพบว่ามีคนหายที่มีเชื้อชาติไทยอยู่ 91% และเชื้อชาติอื่น 9% ซึ่งเฉพาะที่ถือสัญชาติไทยอยู่ 87% ,ที่ถือสัญชาติอื่นอยู่ 5% และไม่ระบุสัญชาติอีก 8%

สัดส่วนคนหายที่เป็นเพศหญิงและเพศชายไม่ต่างกัน

ในรายงานลงบันทึกประจำวันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่ามีคนหายที่เป็นเพศชาย 797 คน คิดเป็นสัดส่วน 49% คนหายที่เป็นเพศหญิง 814 คน คิดเป็นสัดส่วน 50% และไม่ระบุเพศจำนวน 12 คนหรือคิดเป็น 1%

คนหายที่อายุน้อยที่สุดคือ 1 ขวบและคนหายที่อายุมากที่สุดคือ 92 ปี

อายุเฉลี่ยของเพศหญิงที่หายอยู่ที่ 24 ปี อายุเฉลี่ยของเพศชายที่หายอยู่ที่ 33 ปี

มีแนวโน้มที่คนหายจะเป็นเพศหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปี พบว่าคนหายส่วนใหญ่ที่เป็นเพศหญิงจะมีอายุ 18 ปี

โดยภาพรวมคนหายเพศชายมีการกระจายตัวมากกว่าเพศหญิงซึ่งหมายถึงไม่ว่าเพศชายจะอายุมากน้อยแค่ไหนก็มีโอกาสหายพอ ๆ กัน ในขณะที่เพศหญิงที่หายมักมีอายุน้อย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราจะพาไปหาคำตอบจากข้อสันนิษฐานการหายที่ตำรวจตั้งไว้

A histogram of age distribution separated by gender

ปัญหาคนหายของคน 4 วัย

เกณฑ์ที่เราใช้จำแนกความเป็นเด็ก-ผู้ใหญ่-วัยรุ่น-สูงวัยคือ


เด็กอายุมีอายุระหว่าง 1-12 ปี
เยาวชนมีอายุระหว่าง 13-19 ปี
ผู้ใหญ่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี
สูงวัยมีอายุระหว่าง 60 ปีขึ้นไป


จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมาพบว่ามีผู้ใหญ่หายมากที่สุดคิดเป็น 55 % ของทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มเยาวชนหาย 517 คน คิดเป็น 32% อันดับสามคือกลุ่มเด็กจำนวน 63 คนคิดเป็น 4% อันดับสี่คือกลุ่มสูงวัยจำนวน 59 คนคิดเป็น 3.7% อีก 5.3% คือไม่ได้ระบุอายุ

  1. เด็กหญิงมีรายงานหายมากกว่าเด็กชาย เด็กอายุน้อยที่สุดที่หายไปอายุ 1 ขวบ อายุเฉลี่ยของคนที่หายส่วนใหญ่คือ 7 ขวบ จากข้อมูลมูลเด็กหายจำนวน 63 คนพบว่าในช่วงปี 2540-2549 เป็นระยะเวลา 10 ปีที่มีเด็กหายมากที่สุดถึง 48 คน (คิดเป็น 76% ของเด็กหายทั้งหมดตลอด 40 ปี)
  2. สัดส่วนเยาวชนหายมากเป็นอันดับสองรองจากผู้ใหญ่ เยาวชนคือกลุ่มที่น่ากังวลคือตั้งแต่ปี 2520 มีเยาวชนที่อายุ 13-19 ปี หายอย่างต่อเนื่อง ในปี 2543-2551 มีรายงานพบว่าเยาวชนหายเป็นหลักร้อย แม้ว่ายอดเยาวชนหายจะลดลงในระยะเวลาต่อมาแต่แนวโน้มของสาเหตุการหายของคนกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ในช่วงที่น่าเป็นห่วง
  3. เกินครึ่งหนึ่งของคนหายทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ เกินครึ่งหนึ่งของคนหายทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ ปี 2547 (ปีที่เกิดสึนามิ) มีคนหายมากที่สุดซึ่ง 53% เป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี
  4. ในอนาคตมีเกณฑ์ที่คนสูงวัยหายเพิ่มขึ้น ในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์ คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับสมองและความจำที่ไม่มีผู้ดูแลส่วนตัวจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะพลัดหลงหรือได้รับอันตรายขณะเดินทาง ปัญหาครอบครัวก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลต่อจิตใจกับคนกลุ่มนี้
A spaghetti chart of missing person separated by group

7 ข้อสันนิษฐานการหายตัว

หายแบบสมัครใจคือข้อสันนิษฐานที่ถูกบันทึกมากที่สุด

ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 7 ข้อคือได้รับอันตราย, ถูกล่อลวง, ถูกลักพาตัว, เกี่ยวกับทางการเมือง, พลัดหลงทาง, สมัครใจและไม่ทราบสาเหตุข้อสันนิษฐานการสมัครใจถูกบันทึกภายหลังถูกล่อลวง ถูกลักพาตัว และไม่ทราบสาเหตุแต่ยอดสะสมในกรณีเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งปัจจุบัน รองลงมาคือได้รับอันตรายทั้งจากสถานการณ์ภัยพิบัติและขณะเดินทาง

A bar plot of missing’s presumption

เพศและข้อสันนิษฐานการหาย

สัดส่วนคนหายตามเพศพบว่าเพศชายหาย 49% เพศหญิงหาย 50% และไม่ระบุเพศ 1% แม้ชาย-หญิงจะมีสัดส่วนการหายไม่ต่างกันแต่ถูกบันทึกด้วยข้อสันนิษฐานที่ต่างกัน

เพศชายส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าได้รับอันตราย ถูกลักพาตัว พลัดหลงทาง ไม่ทราบสาเหตุมากกว่าเพศหญิง และมีเพียงเพศชายเท่านั้นที่หายด้วยข้อสันนิษฐานเกี่ยวข้องกับการเมือง เพศหญิงส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อสมมติฐานว่าถูกล่อลวงและสมัครใจมากกว่าเพศชายเป็นที่น่าสังเกตว่าข้อสันนิษฐานอันดับหนึ่งของเพศชายที่หายคือได้รับอันตราย ในขณะที่เพศหญิงคือการสมัครใจ

A bar plot of missing’s presumption separated by gender

การเปลี่ยนแปลงของข้อสันนิษฐานการหายจากอดีตสู่ปัจจุบัน

วิวัฒนาการของข้อสันนิษฐานการหายตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

การแจ้งความคนหายครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2512 คือชายเชื้อสายชาวอเมริกัน สัญชาติอเมริกา วัย 27 ปี เป็นนักศึกษาที่มาเรียนในจังหวัดสระบุรี หายออกไปโดยไร้ข้อสมมติฐาน แล้วการแจ้งความครั้งที่สองทิ้งห่างออกไปถึง 4 ปี ในระยะแรกของการแจ้งความคนหายส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อสมมติฐานว่าหายแบบไม่ทราบสาเหตุ ถูกล่อลวง และถูกลักพาตัว

ต่อมาในปี 2542 มียอดแจ้งความสูงหายสูงขึ้นอย่างผิดปกติจนกระทั่งปี 2551 โดยข้อสมมติฐาน 3 ข้อดังกล่าวก็เป็นปัจจัยหลัก แต่มีข้อสันนิษฐานชุดใหม่คือ หายแบบสมัครใจและได้รับอันตรายเพิ่มขึ้น ในปี 2543 ยังปรากฎว่ามีการแจ้งความหายจากทางการเมืองเป็นครั้งแรก

The evaluation of presumption in the previous 40 years

สาเหตุการหายมักเชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจ และภัยพิบัติ

  1. ข้อสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายมีเหตุผลรองรับต่างกันขึ้นอยู่กับพลวัตทางสังคมและภัยพิบัติ
    หากมีคนหายโดยไม่ทราบสาเหตุเรามักพุ่งไปที่ได้รับอันตรายเป็นหลัก ความหมายของการได้รับอันตรายขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เมื่อ 40 ปีก่อนข้อมูลคนหายในประเทศมีน้อยมาก ๆ เพราะยังไม่มีระบบกลางที่รวบรวมข้อมูลคนหาย ในช่วงแรกของคนหายที่ถูกสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายอาจมาจากปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นปัญหาที่รุนแรงมากในอดีต ในช่วงปี 2540 คนที่หายด้วยข้อสันนิษฐานนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว คนเลือกที่ที่จะทำงานต่างถิ่นแต่การสื่อสารยังไม่สะดวกเมื่อคนปกติขาดการติดต่อไปจึงถูกตั้งข้อสมมติฐานว่าได้รับอันตราย ในขณะที่ปี 2547 เกิดเหตุคลื่นสึนามิทำให้มีการแจ้งความคนหายจากการได้รับอันตราย ในระยะหลังคือปี 2552 เป็นต้นมาข้อสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้นเพราะการติดต่อสื่อสารเป็นไปได้สะดวกประกอบกับการคมนาคมที่ดีกว่าในอดีต เราพบว่าในอดีตคนที่หายจากข้อสันนิษฐานได้รับอันตรายคือผู้ใหญ่เพศชายที่หายไปแบบปริศนาซึ่งเป็นความคลุมเครือจนทำให้เข้าใจว่าได้รับอันตรายแต่ในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่ของคนหายที่ถูกตั้งข้อสันนิษฐานนี้คือผู้ป่วยด้านสมองและความจำทั้งผู้ใหญ่และสูงวัยเน้นไปที่เพศชาย
  2. โครงสร้างสังคมในอดีตมีผลต่อข้อสันนิษฐานหลักว่าได้รับอันตรายและลักพาตัว บางส่วนที่ให้เหตุผลไม่ได้ก็ระบุไม่ทราบสาเหตุ ในช่วงก่อนปี 2540 ที่การสื่อสารยังล่าช้าและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวยังใกล้ชิดเพราะรูปแบบสังคมยังไม่มีทางเลือกในการมีอิสระในการทำงานต่างถิ่นสักเท่าไหร่เป็นไปได้ว่าสาเหตุของการหายจะเป็นในทิศทางที่ไม่ได้รับความสมัครใจ ทำให้คนหายมักถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าไม่ทราบสาเหตุ, ได้รับอันตราย และถูกลักพาตัว
  3. การเติบโตด้านเศรษฐกิจทำให้เมืองขยายตัว มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและระบบคมนาคมที่ดี และปัจจัยที่เกื้อหนุนให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไปจึงเกิดข้อสันนิษฐานที่มีความหลากหลาย หลังปี 2540 เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากท้องถิ่นเข้ามาในเมืองมากขึ้นจึงมีข้อสมมติฐานที่หลากหลาย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมทำให้เกิดทางเลือกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ปัญหาครอบครัวไม่ใช่ปัญหาภายในที่ละเลยได้อีกต่อไป เนื่องจากปัญหาครอบครัวทำให้คนเลือกใช้ชีวิตอิสระด้วยการออกจากบ้านการหายตัวแบบสมัครใจจึงเป็นข้อสันนิษฐานใหม่ที่เกิดขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งคือการเติบโตของเมืองจึงทำให้ต้องมีการอำนวยความสะดวกให้คมนาคมที่ง่ายขึ้น ผู้คนสามารถเดินทางด้วยรถสาธารณะด้วยตัวเอง เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนปกติใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นแต่ก็เป็นปัญหาสำหรับคนบางกลุ่มที่ดูแลตัวเองไม่ได้ จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ของคนหายในระหว่างการเดินทางคือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง ถ้าหากในอนาคตยังไม่มีจากจัดการปัญหานี้การพลัดหลงทางจากอาการป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
A spaghetti chart of missing person separated by presumption

เจาะลึกลักษณะคนหายและความผิดปกติที่ควรป้องกัน

ไม่ว่าหญิงหรือชายก็โอกาสกาศเป็นคนหายพอ ๆ กัน สิ่งที่ต่างกันคือข้อสันนิษฐานการหาย ซึ่งข้อสันนิษฐานการหายมีปัจจัยความเป็นเด็ก-เยาวชน-ผู้ใหญ่-สูงวัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

  1. เด็กหญิง-เด็กชายก็มีโอกาสหายด้วยข้อสันนิษฐานหลาย ๆ ข้อที่ไม่ต่างกัน โดยภาพรวมการแจ้งความเด็กหายมากที่สุดจากข้อสมมติฐานว่าถูกล่อลวง พลัดหลงทาง และได้รับอันตรายมากที่สุด สิ่งที่แตกต่างระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงคือการถูกล่อลวงพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายเล็กน้อยคือสัดส่วน 6:4 ส่วนเด็กชายมีข้อสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายมากกว่าเด็กหญิงสัดส่วน 8:2
  2. กว่า 72% ของเยาวชนที่หายคือเพศหญิง สำหรับเยาวชนเพศหญิงที่หายไปส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อสมมติฐานว่าสมัครใจและถูกล่อลวง โดยข้อสมมติฐานดังกล่าวเมื่อเทียบกับเพศชายพบว่าการถูกล่อลวงในเพศชายมีมากกว่าเพศชายสัดส่วน 9:1 ในขณะที่การสมัครใจเพศหญิงมากกว่าเพศชายสัดส่วน 7:3 ส่วนเยาวชนเพศชายพลัดหลงทางมีมากกว่าเพศหญิงสัดส่วน 7:3 โดยสรุปจะกล่าวได้ว่าหากเป็นเยาวชนเพศหญิงจะถูกสันนิษฐานว่าถูกล่อลวงมากกว่าได้รับอันตราย ในทางกลับกับหากเป็นเยาวชนเพศชายจะถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายมากกว่าถูกล่อลวง
  3. ผู้ใหญ่เพศชายหายมากกว่าผู้ใหญ่เพศหญิง สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิงที่หายด้วยข้อสันนิษฐานพลัดหลงทางและได้รับอันตรายคือ 7:3 ในขณะที่ผู้ใหญ่เพศหญิงมีข้อสันนิษฐานการหายตัวที่หลากหลายกว่าเน้นไปที่ถูกล่อลวงและสมัครใจ
  4. สูงวัยเพศชายหายมากกว่าสูงวัยเพศหญิง สัดส่วนจำนวนคนหายของเพศชายต่อจำนวนคนหายเพศหญิงคือ 7:3 ข้อสันนิษฐานการหายตัวของเพศชายสูงวัยคล้ายกับผู้ใหญ่เพศชาย แต่มีข้อมูลว่าการหายแบบสมัครใจในคนสูงวัยเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าหญิงถึง 72% การหายตัวของคนกลุ่มนี้มักเกี่ยวข้องกับโรคทางสมองทำให้พลัดหลงทางและได้รับอันตราย หากในอนาคตประเทศไทยจะมีคนสูงวัยเป็นโรคเกี่ยวกับสมองมากขึ้น แต่ยังไม่มีแนวทางในการจัดการกับการติดตามผู้ป่วย คนสูงวัยที่มีโรคเกี่ยวกับสมองก็แนวโน้มหายตัวไปมากขึ้น และปัญหาในครอบครัวก็ผลักดันให้คนสูงวัยออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้นโดยเฉพาะเพศชาย
The presumption of missing person, by gender and group

เกือบครึ่งของเยาวชนที่หายจากข้อสันนิษฐานหายแบบสมัครใจ

ในข้อมูลของเยาวชนพบว่าเพศหญิงหายมากกว่าเพศชายและครึ่งหนึ่งของเยาวชนหายแบบสมัครใจที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว

ผู้สูงวัยที่หายส่วนใหญ่มาจากการพลัดหลงแต่ส่วนใหญ่ของผู้ที่พลัดหลงไม่ใช่แค่คนสูงวัย

66% ของคนหายแบบถูกตั้งข้อสมมติฐานว่าหลงทางคือผู้ใหญ่ ถึงแม้เราจะดูแยกตามกลุ่มอายุจะพบว่าผู้สูงวัยที่ถูกแจ้งความหมายจะถูกตั้งข้อสมมติฐานว่าพลัดหลง จากข้อมูลพบว่าข้อสันนิษฐานว่าพลัดหลงมีผู้สูงวัยเพียง 19% ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 20-59 ปีอยู่ในวัยกลางคน สาเหตุเป็นเพราะในใบแจ้งความระบุว่ามาจากโรคประจำตัวเช่น โรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นแล้วหากเรายังไม่มีวิธีการจัดการที่ดีจากส่วนกลาง เราก็มีหน้าที่เพิ่มอีกหนึ่งอย่างคือดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดไม่ว่าเขาจะอายุมากหรือน้อย ข้อมูลพบว่าคนหายเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงอาจเกิดจากการเข้าใจไปเองว่าผู้ชายเอาตัวรอดได้ดีกว่าผู้หญิง สำหรับผู้ป่วยไม่ว่าชายหรือหญิงก็ควรได้รับการดูแลอย่างดีไม่ต่างกัน

การระบุว่าไม่ทราบสาเหตุที่พบในเพศหญิง ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน

แม้ว่าการระบุว่าไม่ทราบสาเหตุถูกบันทึกในเพศชายและเพศหญิงไม่ต่างกัน สำหรับเพศชายที่ถูกระบุว่าไม่ทราบสาเหตุเกิดขึ้นได้ทุกกลุ่ม ถ้าเป็นเพศหญิงจะพบในคนที่อายุน้อย ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน แต่แนวโน้มที่ดีคือข้อสันนิษฐานนี้ลดลงในปัจจุบัน และข้อมูลชุดนี้ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้ระบุข้อสันนิษฐานใด ๆ

The box plot of presumption by gender and age

บันทึก คนหาย” กับเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทย

น่าเสียดายว่าข้อมูล 10 ปีล่าสุดนี้มีความน่าเชื่อถือน้อยเพราะจำนวนคนหายที่บันทึกน้อยลงที่ไม่ได้มาจากมีคนหายลดลงแต่มาจากการไม่ได้อัพเดตข้อมูลมากกว่า (ลองเปรียบเทียบกับข้อมูลคนหายของมูลนิธิกระจกเงาแล้วพบว่ามีข้อมูลปรากฎในสองฐานข้อมูลไม่ตรงกัน) เราจึงลองเปรียบเทียบช่วงเวลาแจ้งบันทึกคนหายกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในอดีตที่เกี่ยวข้องกัน

ในแต่ละวันจะมีการแจ้งความคนหาย 3 คนแต่ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมานี้มีบางวันที่คนหายมากกว่านั้นนั่นเป็นเพราะ…

  • วันที่ 26 ธันวาคม 2547 มีรายงานคนหาย 18 คนมีเพียง 1 คนที่หายด้วยข้อสันนิษฐานสมัครใจแต่ที่เหลือคือสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายจากคลื่นสึนามิ
  • เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 มีคนหาย 4 คนที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง

บทส่งท้าย

โดยส่วนตัวเราเชื่อว่าปัญหาคนหายในอดีต (ก่อนปี 2540) มีเยอะมากกว่าข้อมูลที่บันทึกไว้ทำให้เราไม่สามารถเชื่อมโยงสาเหตุคนหายในอดีตมาสู่ปัจจุบันได้ ข้อมูลที่เรามีทำให้เราพอทำความเข้าใจกับ คนหาย” ที่เชื่อมโยงกับปัจจัยสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้ การที่คนหายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2542 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน ช่องว่างทางเศรษฐกิจ และปัญหาครอบครัว เราจึงสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องข้อสันนิษฐานการหายในแต่ละแบบดังนี้

สมัครใจ-ได้รับอันตราย-ถูกล่อลวงคือสามข้อสันนิษฐานที่สำคัญ เราพบว่าปัญหาที่ใหญ่ของคนหายคือ การหายแบบ สมัครใจ” ที่พบในทุกกลุ่ม การหายแบบ ได้รับอันตราย” ถูกพบในเพศชายทุกวัย ในขณะที่การหายแบบ ถูกล่อลวง” พบในเพศหญิงที่อายุน้อยส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ในสูงวัยพบปัญหานี้น้อยมาก

ข้อสันนิษฐานว่าลักพาตัว” นับเป็นข้อที่พิสูจน์ได้ยากในอดีตมีความเชื่อว่ามีคนหายบางส่วนที่เข้าข่ายกรณีนี้ที่เชื่อมโยงกับประเด็นการค้ามนุษย์ ที่เป็นอีกปัญหาหนึ่งในประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีตัวเลขเปิดเผย ในข้อมูลนี้พบว่าหลังจากปี 2556 เป็นต้นมาก็ไม่มีกรณีไหนถูกบันทึกว่าถูกลักพาตัวอีกเลย

การ พลัดหลงทาง” คือในปัญหาใหญ่ในอนาคตที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัยเน้นไปที่คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับสมองและความจำ แต่ในข้อมูลก็มีบางกรณีที่คนหายเป็นผู้ป่วยแต่ถูกสันนิษฐานว่าได้รับอันตรายไม่ใช่พลัดหลงทางก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยที่เดินทางเองเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจุบันเรายังขาดการจัดการติดตามผู้ป่วยทำให้การใช้คนบางกลุ่มต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนจะแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ความฝัน ความหวังของใครหลาย ๆ คนในยามชราก็คือการพึ่งพาตนเองให้ได้ เป็นภาระคนใกล้ชิดให้น้อยที่สุด แล้วถ้าถึงตอนนั้นแค่การเดินทางไปรักษาพยาบาลยังเป็นสิ่งที่อันตรายและสร้างความกังวลใจให้คนใกล้ชิดแล้วสุดท้ายเราก็จะกลายเป็นภาระหนึ่งของสังคมอยู่ดี ถึงตรงนี้ปัญหาผู้ป่วยพลัดหลงทางอาจไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคลอีกต่อไป

จากข้อมูลคนหายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองถูกแจ้งความเพียง 4 คนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 แต่ถูกระบุข้อสันนิษฐานว่าได้รับอันตราย ในขณะที่รายอื่นที่ถูกระบุว่าเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ชี้ชัดรายละเอียดซึ่งคนหายทั้งหมดล้วนเป็นเพศชาย

การหายโดยระบุ ไม่ทราบสาเหตุ” ลดลงเพราะการสื่อสารที่สะดวกขึ้นกว่าในอดีต ผู้คนจึงไม่ขาดการติดต่อเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้คนมีการรับรู้เรื่องราวของคนใกล้ชิดมากขึ้นการหายโดยไม่ทราบจึงเหตุจึงเปลี่ยนเป็นพอเดาสาเหตุได้ ในตอนต้นที่เราเล่าเรื่องชายที่กำลังตามหาครอบครัวที่พลัดหลงเมื่อหลายสิบปีก่อนก็เช่นเดียวกันเพราะการสื่อสารในสมัยนั้นไม่ง่ายเหมือนตอนนี้ เรื่องราวของเด็กชายที่พลัดหลงกับครอบครัวจึงเป็นเรื่องยากที่จะตามหา หลังจากรายการทีวีโชว์นั้นจบลง ก็มีหลายครอบครัวเข้ากระบวนการตรวจ DNA จึงเกิดขึ้นรวมถึงคนรู้จักของแม่เราด้วย

บทสรุปของเรื่องนี้ โชคไม่ดี” ที่ชายผู้นั้นหาครอบครัวที่แท้จริงไม่พบ แม้คนรู้จักกับครอบครัวเราผู้นั้นจะผิดหวังแต่เขาก็พอใจที่ได้พยายามและมีเรื่องที่น่าแปลกใจกว่านั้นเพราะเขายืนยันว่าชายผู้นี้มีลักษณะเหมือนกับลูกที่หายไปเมื่อหลายปีก่อนอย่างน่าประหลาดใจ

เราทุกคนไม่อยากให้ใครที่เคยรู้จักหายไป แต่ในก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนสูญหาย สิ่งที่เราป้องกันได้คือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีจะได้ไม่มีใครหายอย่าง ”ไม่ทราบสาเหตุ” และ สมัครใจ” ไปใช้ชีวิตอิสระที่ครอบครัวให้ไม่ได้ ไม่ควรมีใครหายไปเพราะ การพลัดหลง” หรือ ได้รับอันตราย” ในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตประจำวัน การถูก ล่อลวง” ก็เป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนซึ่งสาเหตุหลาย ๆ อย่างมาจากครอบครัวไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา และไม่ควรมีใครหายไปเพราะเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับ การเมือง” เพราะทุกคนมีสิทธิพื้นฐานในการเป็นพลเมืองคนหนึ่ง

เกี่ยวกับชุดข้อมูล MISSING-PERSON

ชุดข้อมูลถูกเก็บข้อมูลมาจากเว็บไซต์ ศูนย์บริการข้อมูลคนหาย และศพนิรนาม (police.go.th)  จำนวน 1,623 คน ในแต่ละแถวประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับลำดับที่ (No.), หมายเลขที่ (ID), เพศ,เชื้อชาติ, สัญชาติ, เกิดวันที่, อายุ, การศึกษา, อาชีพ, สถานที่ทำงาน, การแต่งกาย, ทรัพย์สินของที่นำติดตัวไป, ตำหนิ/รูปพรรณ, ลักษณะพิการ, วัน-เวลาที่หาย, สถานที่สูญหาย, ที่อยู่ขณะหาย, สาเหตุที่หาย, ข้อสันนิษฐานการหาย, สถานที่ควรสืบหา, พฤติกรรมโดยย่อ, ตาม ปจว., สำนักงานเขตพื้นที่ และ สถานที่ติดต่อเมื่อพบตัว

หากยังไม่จุใจ ทางเรามี Dataset ต้นฉบับสำหรับสายแข็งที่อยากจะขุดคุ้ยข้อมูลต่อ โดยชุดข้อมูล MISSING-PERSON ถูกรวบรวมมาจากการเก็บข้อมูลด้วยเทคนิค Web Scraping (อัพเดตล่าสุดเมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563)

หมายเหตุ: สำหรับสายดาต้าที่อยากนำข้อมูลไปใช้ต่อ ทางเราอยากแจ้งให้ทราบเล็กน้อยว่ากฏหมายที่ว่าด้วยเทคนิคการเข้าถึงข้อมูลด้วยวิธี Web Scraping นั้นได้ระบุไว้คร่าว ๆ ว่า Web Scraping สามารถทำได้ตราบใดที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ได้ใช้เพื่อทำการค้า (หากต้องการใช้เพื่อทำการค้าต้องติดต่อเจ้าของข้อมูลโดยตรง)

มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?

หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้