บทความนี้เขียนขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามกับประเด็นง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คน ก็อาจจะรู้สึกสงสัยอยู่เหมือนกัน
อะไรที่ทำให้บางประเทศยังคงรักษาการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ได้ ? แม้จะมีเหตุการณ์รุนแรงมามากมาย แต่กลับกันบางประเทศที่ได้เคยพยายามจะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยมาหลายรุ่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที หรือเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
คำถามง่าย ๆ ข้อนี้นำไปเสนอข้อถกเถียงมากมายของนักวิชาการจาก Institute for Democracy & Higher Education มหาวิทยาลัย Tufts ในการถกประเด็นเรื่องที่ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิด หรือ ยังคงรักษา ประชาธิปไตยที่แข็งแรงในประเทศนั้น ๆ ได้ จนเกิดมาเป็น Framework ที่ชื่อว่า Democracy by Design: A Framework for a Strong Democracy (2014)
Democracy by Design คืออะไร ?
Democracy by Design พูดถึง 4 เสาหลักที่ช่วยส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งความน่าสนใจของ Framework Democracy by Design คือความชัดเจนและ เรียบง่ายในหลักการ จนสามารถนำบริบทของแต่ละประเทศมาตั้งต้น แล้วใช้เป็นโจทย์ทางการออกแบบ หรือการพัฒนาโครงการที่อยากจะสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ดีทีเดียว
เสาหลัก 4 ข้อของ Democracy by Design
Democracy by Design Framework บอกว่าเพื่อที่จะสร้าง และรักษาการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเราต้องการเสาหลัก 4 ข้อได้แก่
- การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participatory)
- การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี และสิทธิอย่างเท่าเทียม (Free and Equal)
- การได้รับการศึกษา และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย (Educated and Informed)
- การทำงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (Accountable and Justly Governed)
1. การมีส่วนร่วมในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ หรือ Participatory
ประชาธิปไตยที่แข็งแรงหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน หากขาดซึ่งการมีส่วนร่วมแล้ว กลไกทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบมาอย่างดีจะไม่มีประโยชน์เลย ทั้งการใช้สิทธิเลือกตั้ง การเรียกร้องสิทธิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอื่น ๆ
อะไรเป็นสัญญาณของการมีส่วนร่วมของประชาชน
การโหวต หรือการมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือเป็นปัจจัยหลักเลยในการวัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง นอกจากนี้อาจจะวัดจากการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในชุมชน และสังคมตัวเองด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่นักวิจัยได้ทำการศึกษาได้พบสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของชาวอเมริกันดังนี้
ใน 32 ประเทศที่มีการปกครองระบบประชาธิปไตยในกลุ่ม Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) จากการจัดอันดับโดย Pew Research Center พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่อันดับที่ 26 ของการมีออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
และเมื่อทำวิจัยลึกลงไปอีก ถึงลักษณะของคนที่ใช้สิทธิการเลือกตั้ง (ในหนังสือ Who Votes Now?: Demographics, Issues, Inequality, and Turnout in the United States) พบว่า 80% ของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งคือคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่มีแค่ 50% เท่านั้นที่มาใช้สิทธิ
นอกจากนี้ยังพบกลุ่มคนที่มีอายุน้อยยังใช้สิทธิน้อยกว่าคนที่มีอายุเยอะ (จากเอกสาร Voting in America: A Look at the 2016 Presidential Election ของ Untied States Census Bureau) ในเอกสารชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้คนบางกลุ่มมาใช้สิทธิน้อยกว่าคนอีกกลุ่มเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ตั้งแต่ความไม่สะดวก กระบวนการที่ยุ่งยาก หรือความเชื่อแบบผิด ๆ เกี่ยวกับการใช้สิทธิ
ความท้าทายที่น่าสนใจในการสร้างการมีส่วนร่วม
จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา มีความท้าทายบางอย่างในการทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่ฐานะ อายุ ชาติพันธ์ุ ที่ส่งผลต่อการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น โดยผู้เขียนขอสรุปออกมาเป็นชุดคำถามชวนคิดต่อง่าย ๆ เผื่อมีคนสนใจอยากนำไปพัฒนาต่อ
- ทำอย่างไรให้ First Voter หรือ ผู้ใช้สิทธิครั้งแรก มาใช้สิทธิกันมากขึ้น ?
- ทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ สามารถได้รับข่าวสาร และเข้าถึงการเลือกตั้ง ไม่ต่างจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ?
- ทำอย่างไรให้ผู้พิการทางกายภาพ (เช่น พิการทางการมองเห็น พิการทางการได้ยิน) สามารถออกมาใช้สิทธิได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป
กรณีศึกษาการสร้างการมีส่วนร่วม
ในความท้าทายต่าง ๆ ก็ยังมีกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่น่าสนใจ ในการใช้เทคโนโลยี และการออกแบบมาส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิการเลือกตั้ง
โปรเจค Democracy for Everyone โดย IDEO ร่วมกับ รัฐ Los Angeles
กรณีศึกษานี้เป็นโจทย์การออกแบบของ IDEO บริษัท Design Consulting ชื่อดังที่ช่วยออกแบบเมาส์ให้ Apple ในยุคแรกเริ่ม ที่พยายามนำหลัก Inclusive Design มาใช้กับระบบการเลือกตั้ง โดยเขาพบ Insight ว่ามันยากลำบากเพียงใดสำหรับผู้พิการทางร่างกาย หรือแม้แต่คนที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทาง IDEO จึงได้ร่วมกับรัฐ Los Angeles ออกแบบ และพัฒนา Voting Experience หรือประสบการณ์การเลือกตั้งที่เป็นสำหรับทุกคนจริง ๆ
การใช้ Gamification ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการรายงานปัญหา
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก Gamification ถ้าให้อธิบายสั้น ๆ คือการเอากลไก และหลักการของเกมส์มาใช้ในบริบทที่ไม่ใช่เกมส์ เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในทางชุมชน และทางการเมือง อย่างกรณีศึกษาของเมือง Boston และ Mumbai ที่ได้มีการสร้าง แอปพลิเคชั่นที่ชื่อ SpotHoles โดยใช้หลักการของ Gamification เพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามาช่วยรายงานหลุมบนถนน ในรูปแบบของเกมส์ Scavenger hunt ที่สามารถนำไปแลก reward ต่าง ๆ ได้ จากรายงานพบว่ามีการรายงานเข้ามาเพิ่มขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับปีก่อนเลยทีเดียว
หรืออย่างในประเทศไทยก็เคยมีแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “ยุพิน” ที่จัดทำโดยบริษัทบุญมีแล็บ เป็นแอปพลิเคชั่นที่ให้คนทั่วไปมาปักพินเพื่อรายงานปัญหาผ่าน Website และ Chatbot โดยการถ่ายรูปปัญหา ปักหมุด และติดตามผลการแก้ไข
2. การเข้าถึงสิทธิ และคุณภาพชีวิตที่ดีหรือ Free and Equal
ประชาธิปไตยคาดหวังให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะทำตามสิทธิตัวเองได้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างเท่าเทียม แต่เพื่อให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ คือการต้องทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอจนสามารถใช้สิทธิของตัวเองได้เต็มที่อย่างเท่าเทียม ซึ่งหมายรวมถึงการมีปัจจัย 4 ที่ครบถ้วนและเพียงพอ
อะไรเป็นสัญญาณของการเข้าถึงสิทธิ และคุณภาพชีวิตที่ดี
สัญญาณที่บ่งชี้ได้ดีที่สุด การกระจายตัวของรายได้ของคนในประเทศ ยิ่งประเทศมีพิสัยของการกระจายตัวของรายได้ที่กว้าง ยิ่งหมายความว่าคนบางกลุ่มในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่ามาตรฐาน เข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้น้อยกว่า ได้รับการศึกษาน้อยกว่า นำไปสู่การใช้สิทธิ เสรีภาพของตัวเองได้ไม่เต็มที่
โดยรายงานจาก UNDP ปีพ.ศ. 2552 พบว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนระหว่างรายได้ของคนที่มีรายได้สูงที่สุดกับคนที่มีรายได้ต่ำที่สุดในประเทศต่างกันถึง 12-15 เท่า ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 3 – 8 เท่า (เนื่องจากเรื่อความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ละเอียดละอ่อนในการใช้มาตรวัด หากคุณผู้อ่านสนใจเราแนะนำให้อ่านเอกสาร ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช
กรณีศึกษาการสร้างการเข้าถึงสิทธิ และคุณภาพชีวิตที่ดี
ยังไม่พบกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
3. ความรู้ และความเข้าใจในระบบประชาธิปไตยหรือ Educated and Informed
ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เชื่อว่าทุกคนมีความคิดเห็น มีความรู้ ความเข้าใจมากพอที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้ แต่หลาย ๆ ครั้งพบว่าในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวในการสอนเรื่องเกี่ยวกับพลเมืองศึกษา (Civic Education) และยังรวมถึงปัญหาการแพร่กระจายข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ซึ่งส่งผลต่อความคิดเห็นทางการเมือง
ในงานวิจัยบอกว่าข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือน ไม่ต่างอะไรกับโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย
อะไรเป็นสัญญาณของการมีความรู้ความเข้าใจในระบบประชาธิปไตย
นักเรียนได้เรียนวิชาพลเมืองเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือไม่ ? จากแบบสอบถามปี 2017 ที่จัดทำโดย The Annenberg Public Policy Center ของมหาวิทยาลัย Pennsylvania พบว่ามีแค่ 26% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่เข้าใจ 3 เสาสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย (เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ) นอกจากนี้จากงานวิจัยในปี 2015 ยังพบว่านักเรียนมัธยมปลายกว่า 30% ไม่ได้เข้ารับการศึกษาเกี่ยวกับวิชาพลเมือง
ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อข่าวปลอม หรือมีสื่อทางเลือกที่เป็นกลางมากแค่ไหน ? เราอาจจะต้องยอมรับว่ามนุษย์นั้นถูกชักจูงและโน้มน้าวได้ง่าย ยิ่งการชักจูง โน้มน้าวนั้นมีผลประโยชน์ทางการเมืองเบื้องหลังมากเท่าไหร่ การถูกชักจูงยิ่งอันตรายเท่านั้น
ความท้าทายที่น่าสนใจในการสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบประชาธิปไตย
วิชาพลเมืองอาจจะถูกลดความสำคัญ เพราะไม่ได้เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพโดยตรงดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่จะทำให้นักเรียนสนใจวิชานี้
- จะทำอย่างไรให้วิชาพลเมืองน่าสนใจ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการเรียนของนักเรียน ?
- จะฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking ให้กับประชาชนอย่างไรให้รับมือและแยกแยะข่าวลวงได้อย่างไร ?
กรณีศึกษาการสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบประชาธิปไตย
โปรเจคบอร์ดเกมส์ SIM Democracy จัดทำโดย มูลนิธิฟรีดริชเนามัน
ตัวบอร์ดเกมส์ SIM Democracy เป็นสื่อการสอนประชาธิปไตยสำหรับเด็กในรูปแบบบอร์ดเกมส์ที่จัดทำโดย มูลนิธิฟรีดริชเนามัน โดยตัวบอร์ดเกมส์จะให้ผู้เล่นได้จำลองเป็นนักการเมืองแต่ละด้านทั้ง 4 ด้านผ่าน 4 สถานที่
1. โรงพยาบาล
2. โรงเรียน
3. สถานีตำรวจ
4. อุทยานป่าไม้
โดยแต่ละท้องที่จะได้การ์ดปัญหาไม่เหมือนกัน ในเกมส์ผู้เล่นจะต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาในท้องที่ของตัวเองให้ได้ และจะมีผู้นำประเทศผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ตั้งแต่ การเขียนนโยบาย การหาเสียง การเลือกตั้ง และเลือกผู้นำประเทศที่จะได้สิทธิเป็นคนจัดสรรงบประมาณส่วนกลาง (เพื่อจัดสรรให้พื้นที่ตัวเอง หรือพื้นที่คนอื่นอีกที เพื่อใช้เก็บภาษีในภายหลัง) โดยคนที่สามารถพัฒนาที่ดินของตัวเองได้ครบตามกำหนดจะเป็นผู้ชนะไป
สำหรับใครอยากเห็นหน้าตาตัวบอร์ดเกมส์ และวิธีการเล่นเข้าไปดูได้ที่นี่
โปรเจค Fact Checker ของสำนักข่าว The Washington Post
ในช่วงการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา นักการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งจะมีการหาเสียงผ่านทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าคำพูดบางอย่างจากนักการเมือง ถ้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจะพบว่าบางอย่างเป็นเรื่องที่พูดเกินจริงไปมาก แต่ใครจะมีเวลามานั่งตรวจข้อเท็จจริงทุก ๆ ข่าวล่ะ ? จากปัญหานี้ทางสำนักข่าว The Washington Post จึงได้ทำโปรเจค Fact Checker สกู๊บข่าวพิเศษที่มาวิเคราะห์สิ่งที่นักการเมือง “เคลม” ว่าเป็นจริงมากแค่ไหน (ส่วนใหญ่เป็นเรื่องตัวเลขทางสถิติ หรือประวัติศาสตร์ในอดีต) โดยแสดงออกมาถึงดีกรีความบิดเบือนจากสัญลักษณ์รูปพิน็อคคิโอ (มีตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 4)
ระดับ 1 คือการเลือกพูดความจริงด้นเดียว แต่ตัวเนื้อหาเป็นความจริง หมายถึง ไปจนถึงระดับ 4 ที่เป็นเรื่องที่พูดเกินจริง หรือการใช้ข้อมูลทางสถิติที่ผิดบริบทกัน นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์อื่น ๆ อีก หากผู้อ่านสนใจสามารถไปติดตามต่อได้ที่ About The Fact Checker – The Washington Post
4. การทำงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้หรือ Accountable and Justly Governed
เสาหลักข้อสุดท้ายพูดถึงกลไกของระบบประชาธิปไตยโดยเฉพาะ ที่ต้องมีการพัฒนาให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีศีลธรรม ซึ่งในเสาหลักสะท้อนไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบการเมืองของประชาชนด้วย
อะไรเป็นสัญญาณของการทำงานของภาครัฐที่โปร่งใส
เชื่อมั่นต่อระบบการเมืองของประเทศตัวเองแค่ไหน ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น
- คุณมีความคิดเห็นว่าระบบการเมืองของประเทศคุณโปร่งใสแค่ไหนจาก 1 – 10
- คุณเชื่อมั่นระบบการเมืองของประเทศคุณมากแค่ไหนจาก 1 – 10
โดยในงานวิจัยไม่ได้พูดถึงแค่ตัวนักการเมืองว่าทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้แค่ไหน แต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมทางการเมืองอื่นด้วย เช่นการนับคะแนนโหวตโปร่งใสแค่ไหน ? การใช้จ่ายงบประมาณตรวจสอบได้มากแค่ไหน ? การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพแค่ไหน ?
ความท้าทายที่น่าสนใจในการสร้างการทำงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้
ความท้าทายนี้เป็นข้อที่เราสามารถต่อยอดจากประเทศที่มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ 3 เสาหลักที่เหลือ เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป
- จะออกแบบกลไกการตั้งพรรคการเมือง การเลือก และระบบการตรวจสอบยังไง ให้มีโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ใช้ได้จริง ?
กรณีศึกษาการสร้างการทำงานของภาครัฐที่โปร่งใส
โปรเจค ACT Ai เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
ACT Ai คือเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จัดทำโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย เป็นการสร้างกลไกในการป้องกันการคอรัปชั่น และเพิ่มความโปร่งใส อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจของ ACT Ai คือนอกจากผู้ใช้งานจะสามารถตรวจสอบโครงการของรัฐ และงบประมาณที่ใช้ได้แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถโหวตหรือแสดงความคิดเห็น ส่งเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเหล่านั้นได้อีกด้วย
การส่งเสริมประชาธิปไตยต้องการความต่อเนื่อง
หลาย ๆ โปรเจคที่ทางผู้เขียนได้นำเสนอไปข้างต้นจัดทำโดยบุคคลทั่วไป หรือบริษัทเอกชนขนาดเล็กซึ่งไม่ได้มีงบประมาณมาก จึงจะเห็นได้ว่าหลายโปรเจคที่ได้กล่าวถึงในนี้เกือบครึ่งไม่ได้ทำต่อแล้ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีหน่วยงานจากภาครัฐที่ต้องคอยสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้โปรเจคดี ๆ เหล่านี้ดำเนินการต่อไปได้
บทส่งท้าย
ในความเห็นของผู้เขียน Democracy by Design เป็น Framework ที่น่าจะช่วยให้นักออกแบบ และนักพัฒนาที่สนใจประเด็นกทางประชาธิปไตยได้ตกผลึกไอเดียจนสามารถส่งเสริมประชาธิปไตยในแบบของตัวเองได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าทางฝั่งรัฐบาลก็ได้เริ่มมีการสร้างกลไกในการชวนบุคคลทั่วไปให้เข้ามา ” มีส่วนร่วมทางการเมือง ” ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
- งาน ACTkathon : Anti-Corruption Virtual Hackathon 2021 ซึ่งชวนบุคคลทั่วไปมาร่วมออกแบบ และพัฒนากลไกในการตรวจสอบการทุจริต
- การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดอย่าง Open Data Government of Thailand ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาตรวจสอบกระบวนการทำงาน และการใช้เงิน ใช้ภาษีของรัฐได้
ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นแหล่งอ้างอิง และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกท่านสามารถสร้าง ประชาธิปไตยที่ แข็งแรง ในประเทศไทยได้นะครับ
มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?
หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง:
- Democracy by Design: A Framework for a Strong Democracy (2014)
- In past elections, U.S. trailed most developed countries in voter turnout
- Who Votes Now?: Demographics, Issues, Inequality, and Turnout in the United States
- Americans Are Poorly Informed About Basic Constitutional Provisions | The Annenberg Public Policy Center of the University of Pennsylvania
- โปรเจค Democracy for Everyone ที่จัดทำโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท IDEO กับเมือง Los Angeles
- How gamification can help nudge citizens to be more participatory (indiatimes.com)
- โปรเจค Fact Checker ของ The Washington Post
- โปรเจค บอร์ดเกมส์ SIM Democracy โดย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน
- โปรเจค SimDemocracy โดยนักพัฒนาใน Reddit
- โปรเจค ACT Ai