exhausted-man-in-front-of-a-computer-with-his-head

นักเขียนฟรีแลนซ์มักปรากฎในอาชีพยอดฮิตติดอันดับ 1 ใน 5 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเป็นอาชีพเสริม –

ท่ามกลางการแข่งขันของภาคธุรกิจที่ช่วงชิงพื้นที่ให้ลูกค้าเก่าและใหม่ได้ใกล้ชิดกับแบรนด์ “งานเขียน” จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและลูกค้าเป้าหมายได้อย่างดีจึงเป็นยุคที่แทบธุรกิจต่างต้องสร้างคอนเทนต์ให้ตนเองเรียกว่า “Content is King” เราจึงเห็นนักเขียนทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้เข้าประลองฝีมือในสงครามนี้ด้วย

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ -

สิ่งที่ควรรู้ก่อนจะมาเป็น ‘นักเขียน’

การเกิดสื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้สารส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้นและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเห็นความได้เปรียบนี้จึงเกิดการสร้างคอนเทนต์ทั้งในรูปแบบงานวิดีโอ ภาพวาด หรืองานเขียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้นและที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มการจ้างงานออนไลน์ที่จับคู่ระหว่างผู้ว่าจ้างกับฟรีแลนซ์ที่ผลงานตรงใจ เราจึงเห็นปรากฎการณ์การจ้างงาน “Writer” ที่ปรากฎในอาชีพยอดฮิตติดอันดับ 1 ใน 5 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ในเมื่อความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นแล้วว่าที่ ‘นักเขียน’ ควรตัดสินใจในเส้นทางสายนี้อย่างไรดี ?

ทำความรู้จักประเภทงานเขียนในหมวดการจ้างงาน “Writer”

อาชีพ “นักเขียน” เป็นคำกว้าง ๆ ที่เรียกแทนงานที่ใช้ทักษะการเล่าเรื่องด้วยข้อความมีจุดประสงค์เพื่อให้ความบรรเทิง, ให้ความรู้ หรือทั้งสองประกอบกัน ดังนั้นการจ้างงานของหมวด “Writer” จึงมีความหลากหลายสามารถเป็นได้ทั้งการจ้างเขียนแบบบทความหรือเขียนหนังสือทั้งเล่ม สำหรับตลาดการจ้างงานเขียนในประเทศไทยจากข้อมูลที่เรานำมาใช้อ้างอิงตลอดทั้งบทความนี้มาจากเว็บไซต์จ้างงานฟรีแลนซ์ Fastwork.com หมวดหมู่งานเขียนบทความ (fastwork.co/content-writing) พบว่างานส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบบทความมากกว่าการจ้างเขียนทั้งเล่มหรือที่เรียกว่า “นักเขียนเงา” หรือ “Ghost Writer” เราพบการใช้ 2 คำสำคัญในการนิยามลักษณะงานเขียนบทความคือ ‘รับเขียนบทความ’ กับ ‘รับเขียนคอนเทนต์’

นักเขียนที่ใช้คำว่า “รับเขียนคอนเทนต์” ได้รับค่าจ้างต่อชิ้นสูงกว่านักเขียนที่ใช้คำว่า “รับเขียนบทความ” ถึง 2 เท่า

เนื่องจากนักเขียนที่ใช้คำว่า “รับเขียนคอนเทนต์” มีการตั้งราคาเฉลี่ยขั้นต่ำสูงกว่า “รับเขียนบทความ” ซึ่งจำนวนนักเขียนทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนที่ต่างกัน จากข้อมูลเว็บไซต์ fastwork.com พบว่านักเขียนกว่า 67% ใช้หัวข้อจ้างงานว่า “รับเขียนบทความ” ใขณะที่หัวข้อ “รับเขียนคอนเทนต์” มีเพียง 11% หัวข้อที่เหลืออีก 22% ใช้คำอื่น ๆ เช่น รับเขียนวิจัย, รับเขียนโฆษณา, รับงานเขียนรีวิว เป็นต้น

ไม่ว่านักเขียนเหล่านั้นจะใช้คำว่า “รับเขียนคอนเทนต์” หรือ “รับเขียนบทความ” ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานเขียนทั่วไป (General Writing) ผลลัพธ์ของงานมาจากความต้องการของผู้ว่าจ้างทั้งหัวข้อ โทนเนื้อเรื่อง

ซึ่งนักเขียนที่เข้าข่ายการรับงานเขียนทั่วไปมีอยู่ 78% ในขณะที่นักเขียนอีก 22% จัดเป็นกลุ่มทำงานเขียนเฉพาะทาง (Specialist Writing) มักใช้คำที่บ่งบอกถึงความถนัดเฉพาะเช่นงานเขียนด้าน IT, งานเขียนบทวิจัย, งานเขียนบทสัมภาษณ์, งานเขียนทางการแพทย์, งานแปลภาษา เป็นต้น

ทั้งนี้งานเขียนเฉพาะทางมีการกำหนดราคาผลงานต่อชิ้นสูงกว่างานเขียนทั่วไปถึง 68 % สาเหตุที่เป็นไปได้คืองานเขียนเฉพาะทางใช้เวลามากกว่างานเขียนทั่วไป ยกตัวอย่างงานเขียนประเภทวิจัย โดยเฉลี่ยมักใช้เวลาขั้นต่ำหนึ่งสัปดาห์ในการเขียนแต่ละบทเพราะงานในลักษณะนี้ต้องอาศัยการค้นคว้า เช็คความเป็นเหตุเป็นผลก่อนจะนำไปเรียบเรียง

สาเหตุที่สองงานเฉพาะกลุ่มเช่นงานเขียนด้าน IT, งานเขียนทางการแพทย์ที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน งานเขียนเฉพาะด้านมีผู้อ่านเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ว่าจ้างจึงมักให้ความสำคัญกับความถูกต้องของเนื้อหามากกว่าความสามารถในการใช้ถ้อยคำชักจูงผู้อ่าน ผู้เขียนก็มักอยู่สายงานอาชีพอื่น ๆ

การใช้คำว่า “รับเขียนคอนเทนต์” หรือ “รับเขียนบทความ” ไม่ค่อยมีความแตกต่างทางด้านเนื้อหาแต่งานเขียนแบบ “รับเขียนคอนเทนต์” มักระบุการนำไปใช้ชัดเจนเช่น เนื้อหาสำหรับรีวิว โฆษณาเพื่อสร้างแรงจูงใจบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งในมุมของผู้ว่าจ้างให้คุณค่ากับผลลัพธ์ที่สื่อสารได้ชัดเจนว่าผลลัพธ์ของงานจะทำให้เกิดผลอย่างไรจึงอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักเขียนที่ใช้คำว่า “รับเขียนคอนเทนต์” แบบวัดผลได้สามารถตั้งราคาที่สูงขึ้นได้ สำหรับนักเขียนที่ใช้คำว่า “รับเขียนบทความ” มักตามมาด้วย SEO เราจึงทำการเปรียบเทียบราคาในบทความที่ระบุว่า SEO กับไม่ได้ระบุพบว่าไม่มีความแตกต่างในการตั้งราคาแต่อย่างใด

การจ้างงานในหมวดหมู่เขียนบทความบนเว็บไซต์ Fastwork.com มีความหลากหลายมากกว่าที่คาดไว้เพราะนอกจากงานเขียนบทความที่ถูกนิยามว่า “บทความ” หรือ “คอนเทนต์” จะมีงานที่อยู่นอกเหนือจากประเภทของงานเขียนข้างต้นเช่น งานแปล, งานเขียนหนังสือทั้งเล่ม, งานเขียนวิจัย, งานเขียนประวัติการศึกษา เป็นต้น งานเหล่านี้ถูกตีความจากฟรีแลนซ์ว่าจัดอยู่ในหมวดหมู่งานเขียนบทความ

ยึดอาชีพ Content Writer Freelance อาชีพเดียวเพียงพอหรือไม่ ?

จากข้อมูลของเว็บไซต์ fastwork.com มีนักเขียนหมวด “Writer” ส่วนใหญ่มีการทำงานเฉลี่ย 10 ครั้งต่อเดือน ถ้าโปรไฟล์อยู่ในกลุ่ม 10% แรก (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2564 จำนวนงานในระบบ 24 งาน) มีการจ้างงานเฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน

เมื่อนำข้อมูลมาประกอบกับการจ้างงานเขียนเฉพาะทางและงานเขียนทั่วไปพบว่าถ้าเป็นนักเขียนส่วนใหญ่ของกลุ่มงานเขียนทั่วไป (General Writing) มีรายได้ต่อครั้งเฉลี่ย 762 บาท ดังนั้นจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 7,620* บาท ในขณะที่นักเขียนกลุ่มเฉพาะทาง (Specialist Writing) มีรายได้ต่อครั้งเฉลี่ย 1,124 บาท ดังนั้นจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 11,240* บาท

เมื่อรู้รายได้ของนักเขียนฟรีแลนซ์แล้วอยากลุยต่อต้องหาข้อมูลเพิ่มกันว่างานเขียนแต่ละประเภทคิดราคาต่างกันอย่างไร ?

*ยังไม่ได้หักค่าบริการและภาษีหัก ณ ที่จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 10-20%

ส่องราคาของงานเขียนแต่ละประเภท

จากกลุ่มตัวอย่างในหัวข้อจ้างงาน “เขียนบทความ” ในเว็บไซต์ Fastwork.com จำนวน 419 งาน งานเขียนแต่ละประเภทมีจำนวนฟรีแลนซ์และการตั้งราคาต่างกัน เราพบว่างานเขียนทั่วไปมีการตั้งราคาสูงกว่านักเขียนเฉพาะทางถึง 2 เท่าแต่การแบ่งนักเขียนเป็น 2 กลุ่มยังกว้างเกินไปซึ่งยากต่อการเห็นภาพรวมที่ชัดเจน เราจึงทำการแบ่งประเภทงานเขียนให้ละเอียดขึ้นด้วยการทำ Text Classification

งานเขียนประเภท Research มีราคาเฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่งานเขียนประเภทรับทําประวัติส่วนตัวเช่น Resume มีราคาเฉลี่ยต่ำที่สุด

เราพบว่างานเขียนประเภท Research มีรายรับเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคืองานแปล (Translation), งานเขียนเกี่ยวกับโฆษณา (advertising), งานเขียนทั่วไป (other), งานเขียน SEO, งานรับเขียนบทสัมภาษณ์ (Interview) ส่วนงานเขียนประเภทรับทำประวัติส่วนตัวเช่น Resume มีรายรับเฉลี่ยน้อยที่สุด

การตั้งราคาขั้นต่ำของงานเขียนแต่ละประเภท

ช่วงราคาของงานเขียนแต่ละประเภทมีแนวโน้มราคาค่อนไปทางราคาต่ำมากกว่าราคาสูงซึ่งหมายถึงงานเขียนส่วนใหญ่ตั้งราคาต่อชิ้นไม่เกิน 500 บาทในขณะที่งานเขียนบางประเภทที่เป็นส่วนน้อยมาก ๆ ตั้งราคาหลักพันบาท

หนึ่งในงานเขียนที่มีการตั้งราคาสูงที่สุดคืองานเขียนประเภท Research มีช่วงราคาตั้งแต่ 350 บาทจนถึง 15,000 บาท ในบรรดางานเขียนประเภทนี้ทั้งหมด (18 งาน) มีฟรีแลนซ์เพียงท่านเดียวที่ตั้งราคา 15,000 บาทซึ่งงานดังกล่าวคืองานเขียนค้นคว้าอิสระ (IS Research) แบบเหมาทั้งเล่ม ในขณะที่ส่วนใหญ่กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 350 บาท ปรากฎว่าเป็นงานเขียน ประเทศ Other เช่นงานเขียนบทความหรือคอนเทนต์ที่ไม่ได้ระบุรูปแบบงานที่ชัดเจน

แม้ว่างานเขียนประเภท Research จะมีการตั้งราคาสูงที่สุดในบรรดางานเขียนประเภทอื่น ๆ แต่นักเขียนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 4% ของงานเขียนทั้งหมด ในขณะที่เกินครึ่งคือ 57% ไม่ได้อยู่ในประเภทงานเขียนที่จัดกลุ่มได้อย่างงานเขียนบทความหรือคอนเทนต์ที่ไม่ได้ระบุรูปแบบงานที่ชัดเจน การจ้างงานในกลุ่มนี้จึงไม่ได้มุ่งเน้นที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะแต่ให้ความสำคัญกับสไตล์การเขียนหรือผลงานอ้างอิงที่ถูกจ้างผู้จ้างมากกว่า ซึ่งการตั้งราคาของกลุ่มนี้เริ่มตั้งแต่ 100 บาทจนถึง 6,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่นิยมตั้งราคาที่ 350 บาท เส้นแบ่งของการตั้งราคาถูกและแพงของงานเขียนประเภทไม่จัดกลุ่มอยู่ที่การให้บริการที่แตกต่างเช่น รับเขียนพร้อมดูแลเพจ, รับทำแผนธุรกิจ เป็นต้น

เปรียบเทียบเงินเดือนของ Content Writer แบบจ้างประจำกับฟรีแลนซ์มีความต่างกันแค่ไหน ?

จากข้อมูลเงินเดือน “Content Writer” ในตำแหน่ง Entry Level หรือผู้มีประสบการณ์ทำงาน 0-2 ปี มักมีช่วงรายได้เริ่มต้นที่ 15,000-20,000 บาท ตำแหน่งระดับ Mid Level หรือผู้มีประสบการณ์ 3-5 ปี มีช่วงรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 18,000-35,000 บาท และตำแหน่งระดับ Senior Level หรือผู้มีประสบการณ์ 6 ปีขึ้นไป มีช่วงรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 25,000-60,000 บาท

เมื่อนำข้อมูลรายได้ฟรีแลนซ์มาอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 7,620 ถึง 11,240 บาท (ยังไม่ได้หักค่าบริการและภาษีหัก ณ ที่จ่ายรวมทั้งสิ้น 18%) พบว่ารายได้ยังห่างจากตำแหน่งนี้ในงานประจำที่เป็นขั้นของ Entry Level ถึง 25% (คำนวณที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท)

แม้ช่วงว่างของรายรับจะแตกต่างกันมากแต่ฟรีแลนซ์มืออาชีพมักจะมีช่องทางการทำงานที่มากกว่าหนึ่งช่องทางอยู่แล้ว แม้ว่าแพลตฟอร์มการจ้างงานออนไลน์นี้จะเป็นช่องทางที่บอกความต้องการทำงานได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สุดแต่รูปแบบการจ้างงานในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ช่องทางเดียว เป็นไปได้ว่ามีการจ้างงานกับบริษัท Outsource, การจ้างงานแบบปากต่อปาก หรือการจ้างซ้ำแบบตกลงกันเองทำให้ยอดรายรับที่เราเห็นในบทความนี้น้อยกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ตลาดฟรีแลนซ์ของสายงานเขียนยังเป็นสนามทดลองของผู้ที่สนใจหารายได้เสริมดังนั้นการเปิดโอกาสหางานผ่านช่องทางนี้เพื่อลองทำงานพร้อมกับสะสมผลงานก่อนที่จะขยับ (Shift) ไปสู่รูปแบบการทำงานบนเส้นทางนักเขียนที่เหมาะสมกับตนเองหรือบางส่วนก็ขอลองเปลี่ยน (Pivot) รูปแบบการทำงานหรือค้นหาความถนัดในประเภทงานเขียนใหม่ ๆ ให้กับตนเองจึงเป็นไปได้ที่ยอมตั้งราคาไม่แพงเพื่อที่จะได้รับโอกาสปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

ปัญหา 3 ประการของ Content Writer ฟรีแลนซ์สามารถสะท้อนอาชีพ freelance อื่น ๆ ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

เราตั้งราคาแบบสมเหตุสมผล (Fair price) เป็นสิ่งที่ดีพอแล้วหรือไม่ ?

ปัญหาของการตั้งราคากับสินค้าที่เรียกว่า “งานเขียน” ไม่ว่านิยามจะเรียกผลงานว่า “คอนเทนต์” หรือ “บทความ” ก็ตามคือควรตั้งราคาอย่างไรให้ตนเองพอใจในขณะเดียวกันก็เป็นราคาที่ผู้ว่าจ้างคิดว่าสมเหตุสมผลนั่นคือการตั้งราคาแบบสมเหตุสมผล (Fair price) เราขอเสนอการตั้งราคาด้วยวิธีคิด 3 แบบดังนี้

1.) การตั้งราคาจากต้นทุน (Cost plus)

งานเขียนก็มีต้นทุนทางปัญญาและเวลา รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ อันดับแรกต้องสำรวจว่าเราใช้เครื่องมือในการทำงานมีอะไรบ้าง ? ต้นทุนเป็นอย่างไร ? ต่อมาคือการประเมินเวลาทำงานและระยะเวลาให้บริการตอบคำถามให้คำแนะนำลูกค้ามีหลักการคิดเป็น: คน X ระยะเวลาทำงานต่อชั่วโมง X ราคาต่อชั่วโมง หรือที่เรียกว่า Man-hour

เช่นงานเขียนบทความ A ใช้ตัวเราเพียงคนเองในการทำงานซึ่งระยะเวลาทำงาน 5 ชั่วโมง ราคาต่อชั่วโมงอยู่ที่ 150 บาท ดังนั้นราคางานชิ้นนี้ควรอยู่ที่ 750 บาท

หลักการคิดราคาจากต้นทุนสามารถมีพื้นฐานจากเงินเดือนที่เราได้รับในการทำงานแบบเดียวกันเช่นเงินล่าสุดอยู่ที่ 30,000 บาท คิดเป็นต่อวันอยู่ที่ 1,500 บาท (นับเฉพาะวันทำการคือ 20 วัน) สมมติหนึ่งวันทำงาน 8 ชั่วโมง ดังนั้น Man-hour ควรจะเป็น 188 บาท

2.) การตั้งราคาจากตลาด

เป็นอีกวิธีสำหรับการเริ่มต้นเป็นนักเขียนสามารถตั้งราคาอ้างอิงจากราคาตลาดได้ วิธีการหาราคาตลาดสำหรับกลุ่มฟรีแลนซ์ในประเทศไทยสามารถอ้างอิงจากเว็บไซต์จ้างงานฟรีแลนซ์หรือชุมชนออนไลน์ เช่น Facebook Group, Portfolio Website เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละแพลตฟอร์มมักมีรูปแบบงานอ้างอิง (Job Reference) ที่ต่างกันทำให้ราคาตลาดต่างกันด้วย

3.) การตั้งราคาจากมูลค่าที่ให้กับลูกค้า

สำหรับนักเขียนมากประสบการณ์หรืออยู่ในตลาดเฉพาะ การสร้างงานเขียนขึ้นมาเท่ากับเรากำลังส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้ลูกค้าที่ประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้เช่น งานเขียนประเภท UX Writing ที่ปรากฎในหน้า Landing Page ของเว็บไซต์ขายสินค้าที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายกดเข้ามาสั่งของได้มากขึ้น การคิดราคา 10% ของยอดขายที่เพิ่มขึ้นก็คงเป็นราคาที่ผู้จ้างยินดีจะจ่าย (ถ้าผู้จ้างเชื่อเช่นนั้นหรือมีเหตุผลเพียงพอในการต่อรอง)

การตั้งราคามีกฎเกณฑ์หลายอย่างให้เราพิจารณาหาราคาที่เหมาะสมต่างกัน ซึ่งผู้เขียนต้องเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง ประเภทงานเขียน และผู้ว่าจ้างประกอบกัน สิ่งที่ควรคำนึงไม่ใช่แค่การตั้งราคาที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งที่ถูกละเลยไปคือค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าประกันสุขภาพ และภาษีไม่ค่อยถูกเข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งของต้นทุนที่เกิดขึ้นเท่าไรนัก

ราคาที่เหมาะสมอาจจะเป็นการตีมูลค่าชิ้นงานนั้นโดยละเลยปัจจัยอื่นที่กล่าวมา สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือควรปรับให้เป็นราคาที่เหมาะสมนี้เป็นราคามาตรฐาน (Standard Price) เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดงานเขียนเพื่อให้นักเขียนมีแรงจูงใจในการพัฒนาผลงานและให้มาตรฐานชีวิตของนักสร้างสรรค์ผลงานดีขึ้น

เราสามารถคาดการณ์ขนาดของตลาดแม่นยำแค่ไหน ?

หากต้องการเป็น Content Writer ที่มีค่าจ้างสูงควรหาความถนัดเฉพาะด้านให้ตนเอง จากข้อมูลพบว่างานเขียนประเภท Research ถูกตั้งราคาเฉลี่ยสูงที่สุดแต่นักเขียนกลุ่มนี้มีเพียง 4% รองลงมาคืองานประเภท Translation หรืองานแปลภาษา มีนักเขียนกลุ่มนี้จำนวน 1%

เหตุผลที่รองรับว่าทำไมงานเขียนที่สามารถตั้งราคาสูงมี 2 ประการคือ 1.) ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในการเขียนงานประเภทดังกล่าวน้อยทำให้มีนักเขียนน้อย หรือ 2.) ขนาดตลาดการจ้างงานจำกัดทำให้ต้นทุนการเรียนรู้ทักษะเพาะเพิ่มแพงเกินไปจึงทำให้นักเขียนส่วนใหญ่เลือกไปทำงานเขียนประเภทอื่น ทั้งสองเหตุผลจึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้นักเขียนสามารถตั้งราสูงได้

เราสามารถรับประกันคุณภาพของผลงานได้อย่างไร ?

จากสมมติฐานขนาดตลาดที่แคบเกินไปเป็นข้อจำกัดของนักเขียนบางประเภท ถ้าไม่ใช่ปัญหาเรื่องขนาดตลาดเพียงอย่างเดียวล่ะ ? สิ่งที่เป็นไปได้คือปัญหาการรับประกันคุณภาพของผลงานในฟรีแลนซ์อิสระ ทั้งงานเขียนประเภท Research และ Translation จำเป็นต้องมีความแม่นยำสูงเพราะผลลัพธ์ของความผิดพลาดทำให้ผลงานขาดความน่าเชื่อถือ

งานเขียนทั้งสองประเภทที่มีกรตั้งราคาสูงทั้งปัจจัยที่เป็นทักษะเฉพาะและขนาดของตลาดจำกัดแล้ว ดังนั้นผู้ว่าจ้างจึงมองหาผู้ที่ทำงานพร้อมรับประกันผลงานได้จึงเลือกการจ้างงานรูปแบบบริษัทมากกว่า ถ้าฟรีแลนซ์สามารถมีวิธีรับประกันคุณภาพของผลงานได้จะเพิ่มโอกาสในการทำงานนี้เพิ่มขึ้น

ทั้ง 3 ปัญหาคือการตั้งราคาที่เหมาะสมแต่ไม่ใช่ราคามาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น การจำกัดขนาดของตลาด และการขาดรับประกันคุณภาพของผลงาน ทั้งหมดเป็นอุปสรรคสำคัญโดยเฉพาะข้อที่หนึ่งและสอง ซึ่งปัญหาสามประการข้างต้นก็ยังเป็นปัญหาของทุกอาชีพในวงการฟรีแลนซ์ในประเทศไทย

บทส่งท้าย

การเลือกเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่มีความถนัดบางสิ่งบางอย่างและมีความต้องการจะเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร สิ่งที่เป็นความถนัดของแต่ละคนมีความแตกต่างกันแต่เป็นความต่างที่ส่วนใหญ่สามารถจัดหมวดหมู่ได้เช่น งานเขียนโฆษณา งานแปล งานเขียนวิจัย งานเขียน SEO (Search Engine Optimization) งานเขียนประวัติส่วนตัว หรืองานเขียนบทสัมภาษณ์ ถ้าสิ่งที่คุณคิดไว้สามารถจัดประเภทหมวดหมู่ได้ตามนี้ได้ วันนี้คุณได้ทราบการตั้งราคาเบื้องต้นแล้ว

สิ่งต่อไปที่คุณควรพิจารณาคือการตั้งราคาแบบนี้ที่เรียกว่าราคาที่เหมาะสม (Fair Price) ควรเป็นราคามาตรฐาน (Standard Price) ที่ยึดถือตามได้หรือไม่ ?

อีกหนึ่งสิ่งอย่าลืมว่าการนิยามผลงานเขียนก็มีความสำคัญ การใช้คำว่า “รับเขียนคอนเทนต์” มีแนวโน้มตั้งราคาสูงกว่าการใช้ว่า “รับเขียนบทความ” ถึง 2 เท่า เมื่อรู้ว่าควรนิยามผลงานตัวเองอย่างไรแล้วต้องศึกษาการทำให้ผลงานมีคุณภาพที่ตลาดต้องการ เมื่อได้ลงมือทำแล้วจะพบว่าคำตอบว่าเราควรเลือกเส้นทางสายนักเขียนต่อไปอย่างไร ?

คำอธิบายการใช้ Text Classification

เนื่องจากเว็บไซต์ Fastwork.com ไม่มี Tag ที่เป็นหมวดหมู่ย่อยที่แสดงถึงประภทของงานย่อยในหมวดหมู่ “เขียนบทความ” เราจึงใช้การแบ่งคำเพื่อสกัดหมวดหมู่ตามคำนิยามของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น “รับเขียนบทความ SEO สำหรับร้านค้าออนไลน์” จะพบหนึ่งตำแหน่งที่บ่งบอกถึงหมวดหมู่ย่อยของงานเขียนนี้คือ “งานเขียนประเภท SEO” เป็นต้น

  • งานเขียนประเภท SEO ประกอบด้วยคำว่า SEO
  • งานเขียนประเภท Advertising ประกอบด้วยคำว่า รีวิว, โฆษณา, สโลแกน, คำบรรยาย, รายละเอียดสินค้า, คำคม
  • งานเขียนประเภท Translation ประกอบด้วยคำว่า แปล
  • งานเขียนประเภท Research ประกอบด้วยคำว่า วิจัย, รายงาน, สารนิพนธ์, วิทยานิพนธ์
  • งานเขียนประเภท Interview ประกอบด้วยคำว่า บทสัมภาษณ์
  • งานเขียนประเภท Resume ประกอบด้วยคำว่า CV, Resume

อ้างอิง

ข้อมูลเงินเดือนตำแหน่งงาน Content Writer: Content creator jobs – Oct 2021 | JobsDB

ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์: https://fastwork.co/content-writing

มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?

หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้