การพัฒนาโปรแกรมในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรม การทำ Low-Code หรือ การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป โดยแต่ละวิธีล้วนมีข้อดี ข้อจำกัด และความเหมาะสมแตกต่างกันไป แต่การพัฒนาโปรแกรมแบบไหนล่ะ ที่จะตอบโจทย์กับธุรกิจของคุณและคุ้มค่าที่จะลงทุนจริง ๆ ?
การเลือกวิธีพัฒนาโปรแกรมที่เหมาะสมกับธุรกิจเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ต้นทุน และความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจในระยะยาว โดยปัจจุบันการทำ Low-code กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก หลายองค์กรพิจารณาลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป รวมถึงลดการจ้างงานโปรแกรมเมอร์ พร้อมให้พนักงานเริ่มทำ Low-Code ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยพัฒนาโปรแกรมมาใช้งานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แต่ในการทำงานจริง ๆ เราควรใช้ Low-Code เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาโปรแกรมทั้งหมดของบริษัทหรือไม่ ?
ทำไมเราถึงไม่ควรใช้ Low-Code ทำ Application อย่างเดียว ?
การทำ Low-Code ใช้เวลา และงบประมาณมากเกินจำเป็น หากมีโปรแกรมสำเร็จรูปที่เหมาะสมอยู่แล้ว
หากมีความต้องการที่ไม่ซับซ้อนและมีโปรแกรมสำเร็จรูปที่ตอบโจทย์อยู่แล้ว การใช้ Low-Code อาจทำให้เสียเวลาและงบประมาณมากกว่า เพราะต้องใช้งบประมาณฝึกสอนพนักงานให้ใช้ Low-Code เป็น และต้องรอเวลากว่าพนักงานจะพัฒนา Low-Code เสร็จถึงจะได้พร้อมใช้งาน
การทำ Low-Code ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน ในกรณีที่โปรแกรมนั้น ๆ จะกลายเป็น Core หลักของธุรกิจ
หากธุรกิจต้องพึ่งพาฟังก์ชันเฉพาะทาง หรือ นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น AI การใช้ Low-Code จะจำกัดความสามารถในการพัฒนาฟีเจอร์เหล่านั้น เพราะขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์ม Low-Code ว่าจะรองรับหรือไม่ และปรับแต่งได้มากน้อยเพียงใด ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งที่มีทีมพัฒนาเป็นของตัวเอง
การทำ Low-Code มีความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย
แม้แพลตฟอร์ม Low-Code จะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี แต่หากผู้ใช้งานขาดความเชี่ยวชาญ หรือ ขาดความรู้เรื่อง Cyber Security ก็อาจทำให้ Application ไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน เช่น การแชร์ Application แบบอิสระ ทำให้ใครก็ตามที่มีลิงก์สามารถเข้าถึงข้อมูลความลับของบริษัทได้ ดังนั้น แนะนำว่าควรศึกษาเกี่ยวกับ Low-Code/No-Code Security ไว้ด้วยจะดีที่สุด
สนใจเรียน AppSheet กับเรา ?
ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ AppSheet ด้วยตัวเอง เพียงแค่เรียนคอร์ส AppSheet Intensive Course ผ่าน Facebook Group กับเรา พร้อมให้คำปรึกษาหลังเรียน
เลือกอย่างไรดี ? ระหว่างจ้างเขียนโปรแกรม ทำ Low-Code หรือ ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป
วิธีการเลือกพัฒนาโปรแกรมจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ราคา ระยะเวลา ความสามารถในการปรับแต่ง โดยสามารถสรุปจุดเด่นเพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาโปรแกรมทั้งสามรูปแบบได้ ดังนี้
- จ้างเขียนโปรแกรม: ราคาสูง ใช้เวลาถึง 6 เดือน – 1 ปี มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง สามารถเพิ่มเติมได้ตามต้องการ
- ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป: ราคาถูกกว่ารูปแบบอื่น สามารถใช้งานได้ทันที แต่ไม่สามารถปรับแต่งได้
- ทำ Low-Code: สะดวก ใช้เวลาปรับแต่งให้ตรงความต้องการประมาณ 1 เดือน
จ้างเขียนโปรแกรม สำหรับโปรแกรมที่ทำให้ลูกค้าใช้ หรือ ระบบนั้นเป็นจุดขายหลักของธุรกิจ
โดยการจ้างเขียนโปรแกรม คือ การพัฒนาโปรแกรมใหม่ทั้งหมด เหมือนการสั่งทำสินค้าเฉพาะตามความต้องการ (Custom Made) จึงทำให้ได้โปรแกรมใหม่ที่ตรงกับความต้องการเฉพาะของธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตของโปรแกรม การออกแบบระบบ ไปจนถึงการพัฒนาและทดสอบจริง โดยจะใช้ระยะเวลา 4 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความยากง่าย ที่ต้องประเมินโดยทีมโปรแกรมเมอร์
อย่างไรก็ตาม การจ้างเขียนโปรแกรมเป็นของตัวเองนั้น จะมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าเช่า Server ค่า Domain Name หรือ ชื่อ URL ของเว็บไซต์ รวมถึงค่าจ้างโปรแกรมเมอร์เพื่อพัฒนา และดูแลระบบอย่างต่อเนื่อง
ข้อดีของการจ้างเขียนโปรแกรม
การจ้างเขียนโปรแกรมสามารถควบคุมการทำงานของโปรแกรมใหม่ได้อย่างเต็มที่
เพราะการจ้างเขียนโปรแกรมสามารถควบคุมได้ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการใช้งาน เช่น การออกแบบอินเทอร์เฟซ (User Interface, UI) การทำงานของระบบ การทดสอบและปรับปรุง
การจ้างเขียนโปรแกรมสามารถออกแบบโปรแกรมใหม่ให้ตรงตามความต้องการได้
การจ้างเขียนโปรแกรมสามารถออกแบบให้ระบบตอบโจทย์กับกระบวนการทำงานขององค์กรได้ เพื่อให้รองรับการทำงานของเราโดยเฉพาะ ทั้งยังสามารถพัฒนาระบบได้ตรงตามความต้องการของธุรกิจอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้ากับโปรแกรม อย่างการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจมีขั้นตอนการทำงานที่ต่างจากคู่แข่ง หรือ ธุรกิจในหมวดเดียวกัน ทำให้คุณไม่สามารถซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้งานได้ จึงจำเป็นต้องจ้างโปรแกรมเมอร์มาเขียนโปรแกรมให้
การจ้างเขียนโปรแกรมมีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถปรับแต่งและขยายระบบในอนาคตได้
โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นและออกแบบมาโดยเฉพาะสามารถปรับปรุงและต่อยอดให้มีฟังก์ชันการทำงานที่เท่าทันกับเทคโนโลยีในอนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการเพิ่ม Chatbot เพื่อตอบข้อสงสัยของลูกค้าที่สอบถามข้อมูลเข้ามาจำนวนมาก ก็สามารถพัฒนาและเพิ่มเข้ามาในระบบได้เลย
ดังนั้น การจ้างเขียนโปรแกรมจึงสามารถรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งแตกต่างจากการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่อาจมีข้อจำกัดในการปรับแต่งหรือขยายระบบต่าง ๆ นั่นเอง
ทั้งนี้ การจ้างเขียนโปรแกรมจะช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมดในอนาคต เมื่อลดโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนระบบใหม่ในอนาคตได้ ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อีกด้วย
ข้อเสียของการจ้างเขียนโปรแกรม
การจ้างเขียนโปรแกรมใช้งบประมาณสูงมาก
จ้างเขียนโปรแกรมมีราคาสูง เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการจ้างโปรแกรมเมอร์ ค่าออกแบบ ค่าทดสอบระบบ และค่าบำรุงรักษา ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของระบบ
การจ้างเขียนโปรแกรมใหม่ใช้ระยะเวลานานที่สุด เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่น ๆ
การจ้างเขียนโปรแกรมอาจใช้เวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 1 ปี โดยมีขั้นตอนตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการ ออกแบบ เขียนโค้ด ทดสอบ และปรับแก้ ซึ่งอาจทำให้ล่าช้าต่อการนำมาใช้งานกับธุรกิจ
การจ้างเขียนโปรแกรมต้องใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการพัฒนา
การจ้างเขียนโปรแกรมจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านการพัฒนาโปรแกรม เช่น ทีมโปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) นักออกแบบ UX/UI และผู้ทดสอบระบบ (QA Tester) ด้วยนั่นเอง
มีค่าใช้จ่ายในการจ้างเขียนโปรแกรมแล้ว ยังมีค่าบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก
หลังจากเขียนโปรแกรมเสร็จและนำมาใช้งานจริงแล้วจำเป็นต้องมีทีมโปรแกรมเมอร์คอยดูแลและอัปเดตระบบอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงต้องแก้ไขข้อผิดพลาดและปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ หากใช้งานไปโดยไม่มีคนคอยดูแลรักษาโปรแกรมของเรา อาจมีผู้ไม่หวังดี หรือ แฮกเกอร์ เข้ามาเจาะระบบและสร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้ เพราะเทคนิคการแฮกข้อมูลมักมีการพัฒนาอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องมีโปรแกรมเมอร์คอยปรับปรุงระบบให้มีความปลอดภัยและรู้เท่าทันกับกลโกงของแฮกเกอร์นั่นเอง
การจ้างเขียนโปรแกรมเหมาะกับธุรกิจแบบไหน ?
- ธุรกิจที่มีปริมาณข้อมูลมากและต้องการระบบที่ซับซ้อน เช่น เว็บไซต์ E-commerce โปรแกรมที่ใช้ในบริษัทจัดหางาน ธนาคาร บริษัทประกันภัย
- ธุรกิจที่ต้องการสร้างความแตกต่าง เช่น สตาร์ทอัพ หรือ ธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ
ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป สำหรับโปรแกรมพื้นฐานของบริษัท ที่ต้องการความแม่นยำและใช้ทันที
ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป คือ การซื้อ หรือ เช่าโปรแกรมที่ถูกพัฒนามาให้พร้อมใช้งานแล้ว โดยทั่ว ๆ ไปจะเป็นโปรแกรมพื้นฐานของบริษัทที่ทุก ๆ บริษัทต้องใช้เหมือน ๆ กันอยู่แล้ว เช่น โปรแกรม Payroll โปรแกรมบัญชี หรือ โปรแกรม Point of Sale
โดยจุดเด่นของการซื้อโปรแกรม นั่นคือ มีทีม Support ในการช่วยเหลือการใช้งานให้ด้วย แต่เนื่องจากเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปจึงอาจจะไม่สามารถปรับแต่งได้เยอะเท่ากับการจ้างเขียนโปรแกรมโดยโปรแกรมเมอร์นั่นเอง
ตัวอย่างโปรแกรมสําเร็จรูปในงานธุรกิจ มีอะไรบ้าง ?
- FlowAccount ระบบบัญชี หรือ payroll สำหรับองค์กรทั่ว ๆ ไป
- Choco CRM ระบบสะสมแต้มสมาชิก
- POSPOS ระบบ Point of Sale
ข้อดีของการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป
ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปแล้วสามารถเริ่มใช้งานได้ทันที
ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป คือ ความรวดเร็วในการใช้งาน เนื่องจากเมื่อซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาแล้ว ก็สามารถติดตั้งและเริ่มใช้งานได้แทบจะทันที ทำให้ช่วยตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากการจ้างเขียนโปรแกรมและการทำ Low-Code ที่ใช้เวลามากกว่า
การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปใช้งบประมาณน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่น ๆ
โดยทั่วไปแล้ว การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจ้างพัฒนาเองอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายมักอยู่ในรูปแบบของการสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน และไม่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น ค่าเซิร์ฟเวอร์ หรือ ค่าจ้างทีมพัฒนา ทำให้ช่วยลดภาระทางการเงินของธุรกิจ และทำให้สามารถนำงบประมาณไปใช้ในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าได้
โปรแกรมสำเร็จรูปจะมีทีมสนับสนุนคอยดูแลตลอดการใช้งาน
เนื่องจากเมื่อซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาแล้ว ก็จะได้รับการสนับสนุนจากทีมงานของผู้พัฒนามาด้วย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำ และตอบคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน ซึ่งการสนับสนุนนี้ อาจอยู่ในรูปแบบของคู่มือออนไลน์ คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เว็บบอร์ด อีเมล หรือ โทรศัพท์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หรือ ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้เมื่อจำเป็น
โปรแกรมสำเร็จรูปจะอัปเดตโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ
โปรแกรมสำเร็จรูปจะมีการอัปเดตโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพ และแก้ไขข้อผิดพลาด (Bug) ซึ่งผู้ใช้งานจะได้รับการอัปเดตเหล่านี้โดยอัตโนมัติ โดยการอัปเดตอัตโนมัตินี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้การอัปเดตล่าสุดอยู่เสมอ และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัย หรือ ประสิทธิภาพที่อาจเกิดขึ้นจากโปรแกรมเวอร์ชันเก่า ทำให้ช่วยลดภาระในการดูแลและบำรุงรักษาระบบ และช่วยให้มั่นใจได้ว่าโปรแกรมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยตลอดเวลา
ข้อเสียของการซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป
การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมีข้อจำกัดในการปรับแต่ง
โปรแกรมสำเร็จรูปถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้การปรับแต่งฟังก์ชันหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของแต่ละธุรกิจนั้นเป็นไปได้ยาก หรือ อาจทำไม่ได้เลย เนื่องจากโปรแกรมสำเร็จรูปมักมีฟีเจอร์และฟังก์ชันที่กำหนดไว้แล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโปรแกรม หรือ เพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ นอกเหนือจากที่โปรแกรมมีให้ อาจทำได้ยาก หรือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการจ้างผู้พัฒนาโปรแกรมมาปรับแต่ง (Customization) ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน
โดยข้อจำกัดนี้ อาจส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าหาโปรแกรม ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือ เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน
การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปอาจไม่ครอบคลุมต่อความต้องการในการใช้งาน
เนื่องจากโปรแกรมสำเร็จรูปถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานทั่วไป ทำให้ฟีเจอร์ที่มีอยู่อาจไม่ครอบคลุมความต้องการทั้งหมดของแต่ละธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเฉพาะตัวสูง เช่น โปรแกรมสำเร็จรูปนั้นอาจมีฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจของคุณ หรือ ขาดฟีเจอร์ที่สำคัญต่อการทำงานไป ทำให้ต้องใช้หลายโปรแกรมร่วมกัน หรือ ต้องทำงานด้วยวิธี Manual เพื่อชดเชยฟีเจอร์ที่ขาดหายไป นั่นเอง
ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เกิดความยุ่งยากในการจัดการข้อมูล และเสียเวลาในการทำงานที่ซ้ำซ้อนมากขึ้น
การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เหมาะกับธุรกิจแบบไหน ?
- ธุรกิจที่ต้องการระบบบัญชีมาตรฐาน
- ธุรกิจที่ต้องการระบบเงินเดือน (Payroll)
- ธุรกิจร้านค้าที่ต้องการระบบ Point of Sale เพื่อจัดการออร์เดอร์หรือคิดเงิน
พัฒนาเองด้วย Low-Code Platform สำหรับระบบงานที่ไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปที่เหมาะสม หรือต้องการใช้งานในระบบงานเล็ก ๆ ของบริษัท
Low-Code Platform คือ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้พนักงานที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์สามารถสร้างและปรับแต่ง Application ได้ด้วยตนเอง โดยใช้เครื่องมือที่มีอินเทอร์เฟซแบบลากและวาง (Drag and Drop)
ตัวอย่างโปรแกรม Low-Code มีอะไรบ้าง ?
- AppSheet: เครื่องมือสร้าง Application แบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องเขียนโค้ด เหมาะสำหรับใช้ในองค์กรต่าง ๆ โดยสามารถสร้างแอปสำหรับการใช้งานที่หลากหลายได้ เช่น การจัดการเอกสาร บัญชี ระบบจอง หรือ การเก็บข้อมูลต่าง ๆ
- Webflow: เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ (Website Builder) ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบเว็บไซต์ได้อย่างอิสระและสวยงามตามใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรม
- Activepieces: เครื่องมือสร้าง Workflow อัตโนมัติโดยไม่ต้องเขียนโค้ด
ข้อดีของการทำ Low-Code
พัฒนาโปรแกรมด้วยการทำ Low-Code ใช้ระยะเวลาน้อยกว่า
เนื่องจากใช้เวลาในการพัฒนาเพียง 2-4 สัปดาห์เท่านั้น ด้วยการใช้เครื่องมือ Visual Interface ที่ใช้การลากและวาง (Drag-and-Drop) และ Component สำเร็จรูป หรือ พูดง่าย ๆ เลยคือ เป็นโปรแกรมที่มีเมนูต่าง ๆ ให้เลือกใช้ สามารถลาก วาง ปรับแต่งคุณสมบัติต่าง ๆ รวมถึงมี Template ให้เลือกใช้งานได้อย่างง่ายดาย และสามารถสร้าง Application ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องใช้การเขียนโค้ดเลยแม้แต่น้อย จึงทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรม สามารถสร้าง Application ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
การทำ Low-Code ใช้ต้นทุนต่ำกว่า
การทำ Low-Code ช่วยลดต้นทุนในหลายด้าน เช่น ค่าจ้างโปรแกรมเมอร์หรือทีมงาน ค่าบำรุงรักษา เพราะการแก้ไขและปรับปรุง Application ที่สร้างด้วย Low-Code ทำได้ง่ายกว่า พนักงานที่ไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดเลยก็สามารถทำได้ จึงไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างโปรแกรมเมอร์นั่นเอง
รวมถึง ค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายด้าน Infrastructure ก็จะถูกลง เพราะบางแพลตฟอร์ม Low-Code ให้บริการบน Cloud ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาและดูแล Infrastructure โดยส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน รวมถึงมีคนดูแล Infrastructure ต่าง ๆ ให้อยู่แล้ว
การทำ Low-Code สามารถลดการพึ่งพาทีมไอทีได้
เนื่องจากพนักงานสามารถสร้าง Application เองได้ ด้วยความง่ายในการใช้งานของแพลตฟอร์ม Low-Code ทำให้พนักงานในแผนกต่าง ๆ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด หรือ ฝ่ายบุคคล สามารถสร้าง Application ง่าย ๆ เพื่อใช้ในงานของตนเองได้ และสามารถออกแบบระบบได้ตรงกับการใช้งานจริง โดยไม่ต้องพึ่งพาทีมไอที
ข้อเสียของการทำ Low-Code
การทำ Low-Code มีข้อจำกัดในการปรับแต่ง
ถึงแม้ Low-Code จะช่วยให้เราพัฒนา Application ได้ง่ายขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับข้อจำกัดในเรื่องของการปรับแต่ง เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มักมี Component และ Template สำเร็จรูปให้ใช้งานอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับแต่งให้เกินกว่าที่แพลตฟอร์มกำหนดไว้ จึงทำได้ยาก หรือ อาจทำไม่ได้เลย
การทำ Low-Code อาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล และประสิทธิภาพในการทำงาน
การพึ่งพาแพลตฟอร์มภายนอก อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลจะถูกจัดเก็บและประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ของแพลตฟอร์ม หากแพลตฟอร์มไม่มีมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ก็อาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหลหรือถูกโจมตีได้ นอกจากนี้ การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและการจัดการสิทธิ์ต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์ม
ทั้งยังมีเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจาก Application ที่สร้างด้วย Low-Code มักสร้างโค้ดแบบ General purpose ซึ่งอาจไม่ได้ Optimize สำหรับการใช้งานเฉพาะ ทำให้การทำงานช้าลง หรือ ใช้ทรัพยากรมากกว่าได้ โดยปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อประสบการณ์ผู้ใช้งาน และความน่าเชื่อถือของ Application
การทำ Low-Code ขาดความยืดหยุ่นในการขยายระบบในอนาคต
ถึงแม้ Low-Code จะช่วยให้พัฒนา Application ได้รวดเร็วในระยะเริ่มต้น แต่หากเทียบกับผลลัพธ์ในระยะยาว เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น และต้องการขยายระบบให้รองรับฟังก์ชันที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือ เชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ การทำ Low-Code อาจมีข้อจำกัด โดยข้อจำกัดนี้อาจทำให้ต้องลงทุนในการพัฒนาระบบใหม่ทั้งหมดในอนาคต ซึ่งเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
การทำ Low-Code เหมาะกับธุรกิจแบบไหน?
- ธุรกิจที่ระบบงานยังไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปที่เหมาะสม
- ธุรกิจที่ต้องการใช้งานในระบบงานเล็ก ๆ ของบริษัท เช่น ระบบจองห้องประชุม ระบบรายงานผลการปฏิบัติงาน ระบบติดตามคุณภาพเครื่องจักร หรือ ระบบติดตามสินค้าคงคลัง
ระบบงานแบบไหน ควรเลือกพัฒนาโปรแกรมอย่างไร?
เราแนะนำว่า ในหนึ่งบริษัทจะมีระบบงานที่ต่างกันไป จึงควรเลือกใช้การพัฒนาโปรแกรมให้เหมาะสมและแตกต่างกัน โดยมีตัวอย่างกรณีศึกษา และแนวทางการเลือกวิธีการพัฒนาโปรแกรม ดังนี้
การจ้างเขียนโปรแกรม เหมาะสำหรับระบบงานแบบไหน ?
การจ้างเขียนโปรแกรมเหมาะสำหรับธุรกิจที่มีระบบเทคโนโลยีเป็นหัวใจหลัก ต้องการความยืดหยุ่นสูง และมีงบประมาณมากเพียงพอ
ตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจที่เลือกจ้างเขียนโปรแกรม
ธุรกิจสตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Startup) ต้องการแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์เฉพาะทาง ต้องการระบบการชำระเงินที่ซับซ้อน การวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าแบบละเอียด ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ และการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ จึงเลือกพัฒนาโปรแกรมด้วยการจ้างเขียนโปรแกรม เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
- ธุรกิจหลักต้องพึ่งพาระบบเทคโนโลยี
- ต้องการความยืดหยุ่นสูงสุด
- มีความต้องการเฉพาะทางที่ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปไม่สามารถตอบสนองได้
- ต้องการความได้เปรียบในการแข่งขัน
- มีงบประมาณและทีมทางเทคนิคที่เพียงพอ
โดยมีผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่
- มีระบบที่ตอบโจทย์ธุรกิจอย่างครบถ้วน
- มีความสามารถในการขยายระบบในอนาคต
- มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน
- มีการควบคุมข้อมูลและความปลอดภัยขั้นสูงสุด
- มีประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือกว่า
การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป เหมาะสำหรับระบบงานแบบไหน
การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป เหมาะสำหรับระบบมาตรฐานทั่วไป ต้องการเริ่มใช้งานทันที และมีงบประมาณจำกัด
ตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจที่เลือกซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป
บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Consulting Firm) ขนาดกลาง ต้องการระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ที่สามารถบันทึกประวัติลูกค้า ติดตามการติดต่อ วิเคราะห์โอกาสทางการขาย และบริหารทีมงานขาย จึงเลือกพัฒนาโปรแกรมด้วยการซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูป Salesforce เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
- เป็นระบบมาตรฐานสำหรับการจัดการลูกค้าสัมพันธ์
- ต้องการเริ่มใช้งานได้ทันที
- มีฟีเจอร์ครบถ้วนตามความต้องการพื้นฐาน
- มีทีมสนับสนุนและอัปเดตระบบอย่างต่อเนื่อง
- มีงบประมาณจำกัด
- ไม่ต้องการการปรับแต่งมาก
โดยมีผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่
- เพิ่มประสิทธิภาพการติดตามลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
- ลดเวลาในการบริหารจัดการข้อมูล
- มีรายงานและการวิเคราะห์อัตโนมัติ
- ลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ
- เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
การทำ Low-Code เหมาะสำหรับระบบงานแบบไหน
การทำ Low-Codeเหมาะสำหรับระบบงานขนาดเล็ก ไม่ซับซ้อน ต้องการพัฒนาเร็ว และลดการพึ่งพาทีมไอที
ตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจที่เลือกทำ Low-Code
บริษัทผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม (Manufacturing Tech Solutions) มีพนักงาน 200 คน กำลังประสบปัญหาในการติดตามประสิทธิภาพเครื่องจักร ต้องการระบบที่สามารถบันทึกข้อมูลการทำงานของเครื่องจักร ตรวจสอบสถานะการซ่อมบำรุง แจ้งเตือนเมื่อเครื่องจักรต้องได้รับการซ่อมแซม และรายงานประสิทธิภาพการทำงานได้ จึงเลือกพัฒนาโปรแกรมด้วยการใช้ Low-Code Platform อย่าง AppSheet เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
- มีระบบติดตามเครื่องจักรไม่ซับซ้อนมาก
- ต้องการพัฒนาเร็วและประหยัดงบประมาณ
- มีทีมที่เข้าใจกระบวนการทำงานเป็นอย่างดี
- ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ฟังก์ชันพิเศษเฉพาะทาง
- ต้องการให้พนักงานฝ่ายผลิตสามารถอัปเดตข้อมูลได้เองอย่างง่ายดาย
โดยมีผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่
- สามารถลดเวลาในการบันทึกข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรลงได้
- เพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมบำรุง
- ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมฉุกเฉิน
- เพิ่มอายุการใช้งานของเครื่องจักร
- สามารถติดตามประสิทธิภาพได้แบบเรียลไทม์
มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?
หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้
บทสรุป
การเลือกวิธีการพัฒนาโปรแกรมที่คุ้มค่ากับการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณของธุรกิจ หากธุรกิจต้องการระบบที่ซับซ้อน มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการเฉพาะ และมีงบประมาณเพียงพอ การจ้างเขียนโปรแกรมโดยโปรแกรมเมอร์เป็นทางเลือกที่ดี แต่มีข้อเสียคือใช้เวลาและงบประมาณสูง รวมถึงต้องมีทีมผู้เชี่ยวชาญดูแลรักษา
สำหรับธุรกิจที่ต้องการระบบมาตรฐานทั่วไป ใช้งานได้ทันที และมีงบประมาณจำกัด การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปเป็นทางเลือกที่ประหยัด แต่มีข้อจำกัดในการปรับแต่งและอาจไม่ครอบคลุมความต้องการทั้งหมด
หากเป็นองค์กรที่ต้องการความรวดเร็วในการพัฒนา ลดการพึ่งพาทีมไอที และมีระบบงานขนาดเล็ก ไม่ซับซ้อน การทำ Low-Code เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม แต่มีข้อจำกัดในการปรับแต่ง ความปลอดภัย และความยืดหยุ่นในการขยายระบบในอนาคต ดังนั้น ควรพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละวิธี ลักษณะเฉพาะตัวของธุรกิจ และงบประมาณก่อนตัดสินใจลงทุนกับการพัฒนาโปรแกรมนั่นเอง