ส่องราคายาในไทย แพงจริงหรือไม่ ?

โรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกในการเข้ารับการรักษาที่นอกเหนือจากรัฐจัดสรรให้โดยที่เราต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเองแต่ในปัจจุบันระบบสาธารณสุขของรัฐที่ต้องรองรับผู้ใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งดูเหมือนว่าปัญหาระบบคิวการรักษาจะไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน

ทางเลือกรองอย่างโรงพยาบาลเอกชนจึงกลายเป็นทางเลือกหลัก แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้งที่แพงเกินไปเช่น ค่ายารักษาโรคก็กลายเป็นเรื่องน่าหนักใจอีกเรื่อง

แล้วบทสรุปของเรื่องนี้ควรแก้ที่ทำให้ยาถูกลงเป็นทางออกเดียวที่จะทำได้จริงหรอ ?

เรื่องเล่าวันที่ไปหาหมอโรงพยาบาล (เอกชน)

ณ เวลาดึกในคืนหนึ่ง มีเหตุการณ์ผิดปกติที่ดวงตาของเธอ แม้ว่าจะลองใช้น้ำเกลือล้างตาก็แล้ว ลงไปนอนพักก็แล้ว ผ่านไปครึ่งชั่วโมงอาการเจ็บและคันตาก็ยังไม่มีทีท่าที่จะทุเลาลง ซึ่งดูเหมือนว่าตอนนี้สายตาไม่สามารถโฟกัสภาพข้างหน้าได้เลย เธอจึงตัดสินใจรีบไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

สถานการณ์จริงในห้องตรวจ

อาจารย์หมอตาเล็ก: ตอนนี้การมองเห็นเป็นอย่างไรบ้างครับ ?
คนไข้ตาบวม: เห็นทุกอย่างเป็นภาพซ้อนค่ะ
อาจารย์หมอตาเล็ก: ขอหมอดูข้างในตาหน่อยนะ ถือไฟฉายพร้อมกับหยิบ Cotton bud กวาดเข้าไปที่ตาขาว
อาจารย์หมอตาเล็ก: ถ้าไม่มาตอนนี้แย่เลยนะครับ สภาพยับเยินมาก เดี๋ยวหมอจะทำความสะอาดเอาเยื่อตาออกให้ก่อนนะครับ พอออกจากห้องแล้วจะมีพยาบาลพาไปล้างตานะครับ ว่าแต่แน่ใจนะครับว่าตาไม่ได้รับบาดเจ็บจากถูกต่อยมา (ทำหน้าฉงนใจ)
คนไข้ตาบวม: ¯_( ͡❛ ͜ʖ ͡❛)_/¯
คนไข้ตาบวม: ใช้เวลาแค่ไหนคะ ที่จะมองเห็นได้ชัดเหมือนเดิม ? แล้วอาการเจ็บตาฉับพลันบ่อย ๆ แบบนี้เกิดจากอะไรคะ ?
อาจารย์หมอตาเล็ก: หลังจากล้างตาก็อาการเจ็บจะลดลงนะครับ พรุ่งนี้ตอนเช้าควรมาตรวจเพิ่มเติมนะครับ เดี๋ยวหมอทำนัดให้นะ

หลังจากได้พบแพทย์พร้อมกับผลวินิจฉัยที่ฟังดูคลุมเครือ (พอเดาได้จากสีหน้าของหมอที่ยังคิดว่าถูกต่อยมา ก็เลยไม่เชื่อว่าอาการนี้จะเกิดเองได้) เมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน มองไปที่รายการค่าใช้จ่ายที่ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ค่าที่ปรึกษาแพทย์ (นอกเวลา), ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และค่ายารักษาโรค ตัวเงินที่จ่ายในวันนั้นเลือนลางคร่าว ๆ 5,6XX บาท แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้คือน้ำเกลือทางการแพทย์ (ขวดสีเขียวที่หาได้ในร้านสะดวกซื้อ) ขนาด 1,000 ml จำนวน 2 ขวดราคาขวดละ 450 บาท แต่เอ๊ะนี่แพงกว่าเกือบ 10 เท่าเลยหนิ !!!

ค่ายารักษาโรคของโรงพยาบาลเอกชนแพงจริงหรือไม่ ? เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยจนมีสำนักข่าวหลายแห่งได้รวบรวมข้อมูลยาที่โรงพยาบาลเอกชนจ่ายให้คนไทยมากที่สุดที่ครอบคลุมไปถึงราคายาที่ต้องจ่ายเทียบกับราคาต้นทุนที่ได้จากเว็บไซต์กรมการค้าภายใน ซึ่งการหาคำตอบว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดราคายาแพงเกินจริงหรือไม่นั้น พบความจริงที่น่าสนใจ 3 ประการคือ

1. ยาชนิดเดียวกันในโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งมีการคิดราคาที่ต่างกันมาก ๆ

2. การตั้งราคาจำหน่ายของยารักษาโรคในโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ย 3 เท่า

3. พบว่าโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครบางแห่งคิดราคายารักษาโรคทุกชนิดแพงกว่าโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง

ป่วยแบบนี้ควรเลือกรักษาโรงพยาบาลไหนดี ?

ข้อแรกการตัดสินว่ายาถูกหรือแพงนั้น ไม่สามารถตัดสินจากตัวเลขราคายาที่ยินดีจะจ่ายได้เพราะแม้จะเป็นยาที่รักษาโรคในกลุ่มอาการเดียวกันแต่ตัวยาต่างชนิดก็บ่งบอกถึงประสิทธิภาพที่ไม่เท่ากันแล้ว ปัจจจัยด้านต้นทุนการนำเข้าและการตั้งราคาจากบริษัทผู้ผลิตก็เป็นสิ่งที่ทำให้ราคายาแต่ละชนิดต่างกัน

แต่ถ้าพิจารณาจากยาชนิดเดียวกันล่ะ ? และรายการยารักษาโรคในภาพนี้คือยาที่โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยที่จ่ายให้กับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งก็พบว่าแม้จะเป็นยาชนิดเดียวกันแต่ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการคิดราคาที่ต่างกันมาก ๆ

ยาชนิดเดียวกันในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการคิดราคาที่ต่างกันมาก ๆ

ในวันหนึ่งหากคุณป่วยด้วยอาการมีไข้ เจ็บคอ ยาที่คาดว่าจะได้รับอาจจะประกอบไปด้วยกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ ยี่ห้อ TYLENOL ข้อมูลจาก 23 โรงพยาบาลที่จำหน่ายยายี่ห้อนี้ ราคาจำหน่ายตั้งแต่เม็ดละ 3.67 บาท จนถึง 22 บาท ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักจะจำหน่ายที่ราคา 7 บาทต่อเม็ด และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.99

สำหรับอาการเจ็บคอมักจะได้รับยาแก้ติดเชื้อเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ยี่ห้อ AMOKSLKLAV ซึ่งข้อมูลจาก 12 โรงพยาบาลที่จำหย่ายยายี่ห้อนี้ ราคาจำหน่ายยาชนิดนี้อยู่ที่เม็ดละ 26 บาท จนถึง 139.5 บาท ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักจะจำหน่ายที่ราคา 35 บาทต่อเม็ด และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 47.56

ถ้ามีอาการไอมีเสมหะร่วมด้วยความเป็นได้ที่จะได้รับยากลุ่มยาแก้ไอแบบมีเสมหะหนึ่งในสามยี่ห้อนี้คือ BISOLVON, FLEMEX หรือ FLUIFORT สำหรับยี่ห้อ BISOLVON ข้อมูลจากโรงพยาบาล 4 แห่งที่จำหน่ายยายี่ห้อนี้ ราคาจำหน่ายยาชนิดนี้อยู่ที่เม็ดละ 9 บาท จนถึง 17 บาท ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักจะจำหน่ายที่ราคา 15 บาทต่อเม็ด และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.56

สำหรับยายี่ห้อ FLEMEX ซึ่งเรามีข้อมูลจากโรงพยาบาล 22 แห่งที่จำหย่ายยี่ห้อนี้โดยราคาจำหน่ายยาชนิดนี้อยู่ที่เม็ดละ 7.5 บาท จนถึง 30 บาท ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักจะจำหน่ายที่ราคา 14.5 บาทต่อเม็ด และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 5.61

สำหรับยายี่ห้อ FLUIFORT ซึ่งเรามีข้อมูลจากโรงพยาบาล 24 แห่งที่จำหย่ายยี่ห้อนี้โดยราคาจำหน่ายยาชนิดนี้อยู่ที่เม็ดละ 13 บาท จนถึง 644 บาท ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักจะจำหน่ายที่ราคา 150 บาทต่อเม็ด และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 215

สมมติว่าการรักษาครั้งนี้ได้รับยา 3 ชนิดคือ TYLENOL, AMOKSLKLAV, และ BISOLVON อย่างละ 20 เม็ด ค่ายาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 774 บาท และค่ายาสูงสุดที่เป็นไปได้คือ 3,530 บาท สำหรับอาการป่วยครั้งนี้ความเป็นไปได้ที่ต้องจ่ายมีความเป็นไปได้ว่าจะจ่ายแค่ไหนขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เลือกรักษา

ยาแต่ละชนิดขายแพงกว่าต้นทุนกี่เท่า ?

แทบทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลต้องได้รับกลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้มาซักหนึ่งยี่ห้อ หนึ่งในยี่ห้อที่นิยมจำหน่ายคือ TYLENOL ราคาต้นทุนอยู่ที่ 0.16-8.00 บาท ราคาจำหน่ายของโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่อยู่ที่ 7 บาท (ขอคาดเดาว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่นำเข้ายาชนิดที่ต้นทุนต่ำกว่าราคาขั้นสูงเพราะถ้านำเข้าที่ราคา 8 บาทต่อเม็ดแต่ขายที่ราคา 7 บาท โรงพยาบาลจะขาดทุนซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่โรงพยาบาลจะยอมขาดทุน)

ถ้าเชื่อว่าโรงพยาบาลจะนำเข้าในราคาขั้นต่ำ (Minimum price) ที่ 0.16 บาทต่อเม็ด จะพบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่คิดราคายา TYLENOL แพงกว่าต้นทุนถึง 44 เท่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราไม่มีหลักฐานในราคานำเข้ายาของโรงพยาบาลเอกชนดังนั้นจะใช้ต้นทุนขั้นสูง (Maximum cost) สำหรับรายการยาตัวอื่น ๆ เพื่อเป็นการลดอคติจากการหาช่องว่างของราคาขายกับต้นทุนที่สูงเกินไป ในการคิดเกณฑ์ราคายาแต่ละชนิดแพงกว่าต้นทุนกี่เท่า

ยาแต่ละชนิดแพงกว่าต้นทุนขั้นสูง (Maximum cost) แค่ไหน

พบว่าราคายาส่วนใหญ่มักแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ย 2 ถึง 3 เท่า จากข้อมูลข้างต้นรายการยาที่แพงกว่าต้นทุน 5 อันดับแรก (ยกเว้น TYLENOL) พบว่าเป็นยาที่คนส่วนใหญ่รู้จักดีอย่างเช่น

ยาลดกรด แก้ปวดท้อง ยี่ห้อ AIR-X ที่มีราคาขายแพงกว่าต้นทุน 9 เท่า

ยาแก้แพ้ ลมพิษ ยี่ห้อ TELFAST ที่มีราคาขายแพงกว่าต้นทุน 8 เท่า

ยารักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบยี่ห้อ HEIDI และ DURAN ที่มีราคาขายแพงกว่าต้นทุน 6 เท่าและ 5 เท่าตามลำดับ

และวิตามินรวมและแร่ธาตุ ยี่ห้อ OBIMIN-AZ ที่มีราคาขายแพงกว่าต้นทุน 5 เท่า

ทั้งนี้ปัจจัยที่ราคาจำหน่ายแพงกว่าต้นทุน สำนักข่าวไทยพีบีเอส ได้ให้เหตุผล 5 ข้อคือ

1. ยานำเข้า

2. ยาในบัญชี ง.

3. โรงพยาบาลเอกชนตั้งราคายาเอง

4. ยามีสิทธิบัตร ผูกขาดการผลิต

5. จ่ายยาเกินความจำเป็น

ลองเลือกหนึ่งเหตุผลที่ว่าโรงพยาบาลเอกชนกำหนดราคายาเอง สมมติฐานคือการตั้งราคาจำหน่ายยาชนิดเดียวกันในแต่ละโรงพยาบาลต้องมีความต่างกัน ดังนั้นเราจะนำยาทุกชนิดที่มีร่วมกันในแต่ละโรงพยายาลเทียบราคาจำหน่ายเพื่อศึกษาว่ามีโรงพยาบาลไหนที่มักขายยารักษาโรคแพงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลอื่น ๆ

โรงพยาบาลไหนบ้างที่ขายยารักษาโรค “ยาแพง” ?

โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครไม่มีที่ไหน ที่มีการจำหน่ายทั้งรายการยาครบทั้ง 24 ชนิด (รายการยาที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับเมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน) ดังนั้นเราจึงเลือกโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครมา 29 แห่งที่ต้องจำหน่ายยารักษาโรคในรายการนี้มาอย่างน้อย 10 ชนิด

ดู Visualization ฉบับเต็มหน้าจอที่ heat_map_analysis

แผนภาพ Heat Map ข้างต้นได้แสดงการเปรียบเทียบราคายาถูกและแพงในแต่ละโรงพยาบาล เส้นแบ่งของคำจำกัดความของความถูกหรือแพงนี้คือราคาเฉลี่ยมาตรฐาน1 ของยาชนิดเดียวกัน สีม่วงแทนราคายาที่แพงกว่ามาตรฐาน และสีเหลืองแสดงราคาถูกกว่ามาตรฐาน

พบว่ามี 4 โรงพยาบาลที่จำหน่ายยาแพงกว่าที่อื่นทุกรายการและมีโรงพยาบาลทั้งหมด 18 แห่งที่มียายอดฮิตกว่าครึ่งถูกจำหน่ายในราคาที่แพงกว่าที่อื่น มีใครพอจำยาล่าสุดที่ได้รับได้รึเปล่า ? แล้วตอนนั้นเลือกรักษาที่โรงพยาบาลที่อยู่ในนี้บ้างไหม ?

บทส่งท้าย ชวนคุยกันต่ออีกนิด

เรื่องราวของวันป่วย ๆ ได้จบลงพร้อมกับการจ่ายค่ายารักษาโรคที่คิดว่าแพงในวันนั้นก็จางหาย เวลาผ่านไปล่วงปี ก็ได้เวลาที่ร่างกายจะเจ็บป่วยอีกครั้ง ภาพการรักษาในวันนั้นกลับมาอีกครั้ง จะคุ้มค่าหรือไม่ที่จะต้องไปโรงพยาบาล (เอกชน) อีกครั้ง ในครั้งนี้เหตุผลที่ต้องไปเอกชนก็ไม่ต่างจากครั้งก่อน ๆ การเจ็บป่วยทางกายก็มากเพียงพอแล้วจึงไม่สามารถอดทน เฝ้ารอการรักษาที่ยาวนานของโรงพยาบาลรัฐที่เบียดบังเวลาพักฟื้นและต้องแลกกับการละทิ้งงานสำคัญในวันรุ่งขึ้นได้

แม้บทความนี้มุ่งเน้นไปที่การสังเกตราคายารักษาโรคของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในกรุงเทพมหานครเท่านั้น สำหรับภาคธุรกิจการปรับราคาสินค้าทั้งอุตสาหกรรมและการมีคนกลางเข้ามาควบคุมเป็นเรื่องยากมาก ๆ จนอาจจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เรื่องราวของยาแพง ไม่ควรมีทางเลือกเดียวที่ทำให้ยาถูกลง

ประเด็นนี้ทำให้ชวนคิดไปถึงต้นเหตุว่า “ทำไมนะ ทำไมเราต้องใคร่ครวญถึงปัญหายาแพงทั้งที่โรงพยาบาลเอกชนควรจะเป็นโอกาสในการเพิ่มทางเลือกในการรักษาเท่านั้น เราก็สามารถกลับไปที่โรงพยาบาลของรัฐก็ได้นี่นา ?” ตอนจบของเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณจ่ายได้แค่ไหน ? ถ้าหากยินดีจ่ายตอนจบก็ลงเอยที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วช็อคเมื่อเห็นราคายา หรือบางคนที่ไม่เลือกทางใดด้วยเหตุผลส่วนตัวก็จบลงที่อาการป่วยหายไปเอง ไม่ก็อาการเรื้อรังหนักขึ้น

ถ้าให้พิจารณาจากการสังเกตก็คงเป็นเพราะมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรอเข้ารับบริการทางการแพทย์ของรัฐได้จึงจำเป็นต้องใช้บริการของเอกชน ทั้งนี้ถ้ามีการจัดการระบบคิวได้ เช่น การมีระบบคัดกรองแล้วใช้ระบบการนัดคิวรักษาล่วงหน้าตามความเหมาะสมของอาการ รวมใช้เทคโนโลยีการวินิจฉัยอาการทางไกลเข้ามาเพื่อช่วยแพทย์โดยผู้ป่วยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล

เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลในการเลือกรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมสำหรับตนเอง คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ป่วยเองที่มีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาแบบที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง และบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้นโดยไม่ต้องรับผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน และประหยัดงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยที่อาการเรื้อรังแล้ว

ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะยังไม่มีทางออกของเรื่องนี้ แต่กรมการค้าภายในได้ทำเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบราคายารักษาโรคเพื่อให้เราตัดสินใจก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เล็งไว้

แต่ในหลาย ๆ ครั้ง แพทย์มักจ่ายยาที่เกินขอบเขตการรักษาอยู่ดี นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่มีรายงานว่าในประเทศไทยมีการจ่ายยาที่มีปริมาณและหลายชนิดมากเกินความจำเป็นทำให้ยาส่วนเกินนี้ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายล้นเกินที่คาดการณ์ไม่ได้และปฏิเสธไม่ได้

1ราคาเฉลี่ยมาตรฐานในที่นี้คือ ค่ามัธยฐานหรือค่ากลาง

มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?

หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้


ข้อมูลประกอบที่ใช้ในบทความนี้

ระบบค้นหาเปรียบราคายาและค่ารักษาทางการแพทย์ กรมการค้าภายใน

บทความ “ทำไม? ค่ายาแพงแสนแพง” สำนักข่าวไทยพีบีเอส

ภัยจาก ‘ยาเหลือใช้’ กระทบงบประมาณรัฐ-ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลรายการยาและราคาต้นทุน

บทความ “ราคายา20ตัว ที่คนไทยใช้มาก รพ.เอกชนฟันอื้อ” สำนักข่าวไทยโพสต์

ข้อมูลดิบที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล

ข้อมูลรายการยาและราคาจำหน่าย

ภาพหน้าปกจาก

Frame photo created by freepik – www.freepik.com