เคยมั้ย ท่องอินเตอร์เน็ตดูเว็บไซต์ช็อปปิ้งอยู่ดี ๆ ก็มีโฆษณามาตามกวนใจใน Facebook หรือวันดีคืนดีก็มีคนไม่รู้จักโทรหาเรา เพื่อมาขายของ สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา นี่ดูเหมือนเป็นราคาที่ต้องจ่าย เมื่อเราใช้บริการบนโลกอินเตอร์เน็ตแบบฟรี ๆ
การที่นักการตลาดบนโลกออนไลน์สามารถนำเสนอสินค้า หรือบริการที่เราน่าจะซื้อ โดยดูจากพฤติกรรมในอดีต ดูจะเป็นเรื่องดีสำหรับขาช็อป แต่สำหรับคนบางคนมันคือความรู้สึกไม่ปลอดภัยเสมือนถูกสอดส่อง สอดแนมอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำ 5 วิธีง่าย ๆ ในการหลบซ่อนอำพรางตัวตนบนโลกออนไลน์ ไม่ให้ถูกติดตามอยู่ตลอดเวลาที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องเลิกดู Netflix ไม่ต้องเลิกกดโปรช็อปปิ้ง แต่ได้ชีวิตที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยหัวใจสำคัญของบทความนี้คือ อย่าเปิดเผยอะไรมากไป และเจาะจงเกินไปบนโลกอินเตอร์เน็ต
1. ใช้โหมดไม่ระบุตัวตนเมื่อท่องอินเตอร์เน็ต
วิธีที่ง่ายที่สุด สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้าน IT คือการใช้ โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito mode) เวลาท่องอินเตอร์เน็ต
โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito mode) คืออะไร ?
หลักการของโหมดไม่ระบุตัวตนคือทุกครั้งที่เราปิด และเปิดหน้าไม่ระบุตัวตนใหม่ ระบบจะรีเซ็ตข้อมูลทุกอย่าง เสมือนว่าเราใช้งานเป็นครั้งแรก นั่นหมายความว่า รหัสผ่าน ประวัติการค้นหา และข้อมูลอื่น ๆ รวมถึง Cookie ด้วย จะไม่ถูกบันทึกไว้ ทำให้เว็บไซต์จะมองเราเป็นผู้ใช้ใหม่ทุกครั้ง
โหมดไม่ระบุตัวตน การใช้งานอินเตอร์เน็ตของเราจะไม่ถูกสอดส่อง ตราบใดที่เราไม่ได้ใช้บริการทางอินเตอร์เน็ตที่ต้องมีการสมัครสมาชิกเข้าไปใช้ เช่น Facebook หรือ Gmail เมื่อเราล็อคอินเข้าไปใช้งานระบบ จะจดจำเราได้ว่าเป็นใคร
2. เลือกใช้บริการออนไลน์ที่มีนโยบายเรื่อง Privacy free เช่น DuckDuckGo และ Signal
ในปัจจุบัน เริ่มมีบริการออนไลน์ที่มีนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยเป็นบริการทางเลือกที่น่าสนใจ และบางบริการก็ดีไม่แพ้กับเจ้าตลาดเลย เช่น
DuckDuckGo : Search Engine ที่ไม่เก็บข้อมูลคำค้นของคุณเลย
DuckDuckGo เป็น Search Engine ทางเลือกที่ไม่เก็บข้อมูลประวัติการค้นหาใด ๆ เลย นั่นทำให้ระบบไม่มีโฆษณาแบบเจาะจงบุคคล (Personalize marketing) แต่ยังมีโฆษณาตามคำค้นหาอยู่ ซึ่งไม่ได้เก็บประวัติการค้นหาของผู้ใช้
ถึงแม้ว่า DuckDuckGo จะเป็น Search Engine ที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า Google แต่ถ้าเทียบเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัว DuckDuckGo ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเลยล่ะ
Signal : โปรแกรม Chat ที่ไม่สนใจว่าคุณจะคุยอะไรกับเพื่อน
ส่วนใหญ่โปรแกรมแชททั่วไปมีระบบการเข้ารหัสแบบปลายทางอยู่แล้ว (End to End Encryption) แต่ Signal เป็นโปรแกรมแชทรูปแบบหนึ่งไม่แชร์ หรือวิเคราะห์ข้อความของผู้ใช้เพื่อจัดทำโฆษณา ตัวแอปพลิเคชั่นเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลังจากมีข่าวลือว่า WhatsApp โปรแกรมแชทชื่อดังจะมีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้กับ Facebook ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว จนทำให้แอปพลิเคชั่นทางเลือกอย่าง Signal มียอดดาวโหลดที่สูงขึ้น
3. ลองใช้ Temporary Account ในการใช้บริการบนอินเตอร์เน็ต
ในโลกปัจจุบันมีบริการอย่าง Temp Mail ที่เป็นบริการ Temporary Email เป็น Email ชั่วคราวแบบใช้แล้วทิ้ง กรณีที่เราอยากทดลองใช้บริการอะไรบางอย่าง แต่ไม่อยากใช้ Email ประจำตัวเองสมัคร โดย TempMail จะสร้าง Email ชั่วคราวให้เราที่จะหมดอายุภายใน 1 วัน ทำให้เราไม่ต้องมานั่งลบ Email Newsletter จากบริษัทต่าง ๆ บ่อย ๆ
หรือบางคนอาจจะใช้วิธีการมีหลาย ๆ Email Account ในการเข้าใช้งานระบบ โดยมี Email หลักไว้ติดต่อเรื่องงาน ส่วน Email อื่น ๆ เอาไว้สมัครใช้บริการต่าง ๆ ที่อาจจะมี Newsletter เข้ามากวนใจบ่อย ๆ
4. ติดต่อขอลบข้อมูลทุกครั้งเมื่อเลิกใช้บริการทางอินเตอร์เน็ต
บริการทางอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มักเปิดให้ลองใช้ฟรี และเมื่อมันเสื่อมความนิยม หรือเราเลิกใช้งานแล้ว ส่วนใหญ่เรามักจะหลงลืมที่จะส่งคำขอลบข้อมูลของเราทิ้งไป ในกรณีใกล้ตัวอย่างแพลตฟอร์ม Hi5 ที่เคยเป็น Social Network ที่ฮอตฮิตของคนไทยสมัยก่อน ซึ่งสมัยนี้ไม่มีใครเล่นกันแล้ว แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่เลือกที่จะทิ้งข้อมูลเหล่านั้นไว้ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น เพื่อยึดโยงถึงพฤติกรรมเราได้ รู้อย่างนี้แล้วลองค้นหาชื่อตัวเองบนอินเตอร์เน็ต และลองดูว่าเจอเว็บไซต์ไหนที่เราไม่ได้ใช้มานานแล้วแต่ยังมีชื่อเราอยู่ ให้รีบติดต่อส่งคำขอลบข้อมูลเลยนะ
5. จ่ายเงินเพื่อซื้อความเป็นส่วนตัวคืนมา
ในเมื่อบริการทางอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาโฆษณา เพื่อให้บริการยังใช้ได้ฟรี ๆ แบบ Freemium ซึ่งแลกมากับการมีโฆษณาคั่นระหว่างใช้บริการ
ดังนั้นถ้าเราพอมีเงินอยู่บ้าง การจ่ายเงินซื้อบริการทางอินเตอร์เน็ต เช่นจ่ายค่าบริการ YouTube Premium หรือ จ่ายค่าบริการ Spotify Premium ก็ดูสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ได้การันตีว่าบริษัทต่าง ๆ จะไม่เอาข้อมูลเราไปใช้แต่ที่แน่ ๆ เราไม่ต้องอดทนกับโฆษณากวนใจอีกต่อไป
เป็นยังไงกันบ้าง หวังว่าบทความจะช่วยคืนความเป็นส่วนตัวของคุณได้ไม่มากก็น้อยนะ สิ่งสำคัญของบทความนี้ไม่ใช่การปฏิเสธการสอดส่องบนโลกออนไลน์ทั้งหมด จนไม่ได้ใช้ประโยชน์จนเทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่เข้าใจเรา แต่เป็นการรักษาพื้นที่ตรงกลางระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความเป็นชุมชน เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง: