เพราะการสร้าง Application สำหรับธุรกิจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงจากความซับซ้อนในการเขียนโปรแกรม ทำให้ปัจจุบัน Low-Code Platform ได้ถูกพูดถึงจากการเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องการเขียนโปรแกรม สามารถสร้าง Application หรือ Website ของตัวเองได้
ในบทความนี้เราจะมาพามาทำความรู้จักเครื่องมือกลุ่ม Low-Code, วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย และหากใครที่อยากจะลองใช้งาน เราได้รวมตัว Low-Code ที่น่าสนใจมาไว้ในบทความนี้ด้วย
Low-Code Platform คืออะไร
Low-Code Platform คือกลุ่มเครื่องมือในการช่วยพัฒนา Website หรือ Application โดยที่แทบไม่ต้องใช้ความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม เพราะตัวโปรแกรมจะสร้างเครื่องมือให้เราเลือกใช้ไว้อยู่แล้วซึ่งเปรียบเสมือนตัวต่อเลโก้แต่ละชิ้น เรามีหน้าที่ต้องรู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้เอาไว้ทำอะไร แล้วนำเครื่องมือเหล่านั้นมา มาประกอบร่าง หรือปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเพื่อสร้างออกมาเป็น Application ที่ตรงกับความต้องการของเรา
Low-Code Platform สามารถสร้าง Application อะไรได้บ้าง ?
เครื่องมือกลุ่ม Low-Code สามารถแบ่งตามประเภทของ Application ที่เครื่องมือนั้นสามารถสร้างได้ดังนี้
เครื่องมือกลุ่ม Business Application
เครื่องมือ Low-Code กลุ่ม Business Application เน้นใช้เพื่อสร้าง Application หรือ Website เพื่อแสดงผล หรือบันทึกข้อมูลเป็นหลัก โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้ดังนี้
สร้าง Website ด้วย Low-Code
ใช้ Low-Code เพื่อสร้าง Website เพื่อทำการตลาดออนไลน์ โดยสามารถสร้างระบบตะกร้าสินค้า, ทำแบบฟอร์ม หรือ เขียนบทความออนไลน์ โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ได้แก่
Webflow : Low-Code Platform สร้าง Website ที่ปรับแต่งได้เยอะ, มี Template Website ให้เลือกใช้มากมาย และมี Plugin สนับสนุนการทำงานที่หลากหลาย ทดลองใช้งานที่นี่
สร้าง Application ด้วย Low-Code
ใช้ Low-Code เพื่อสร้าง Application ที่เน้นใช้เพื่อสร้าง หรือบันทึกข้อมูลในบริษัท โดยจะใช้เพื่อทดแทนโปรแกรม ERP หรือโปรแกรมสำนักงานสำเร็จรูปแบบดั้งเดิม เช่นโปรแกรมบันทึกข้อมูลสินค้า, โปรแกรมตัดสต็อก และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ได้แก่
AppSheet : Low-Code Platform สร้าง Application โดยใช้ Spreadsheet เป็นฐานข้อมูล รองรับการทำ Business Automation เช่นการส่งอีเมล การส่งแจ้งเตือน ทดลองใช้งานที่นี่
สร้าง Chatbot ด้วย Low-Code
ใช้ Low-Code เพื่อสร้าง Chatbot สำหรับการถาม-ตอบกับลูกค้า ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายแบบตั้งแต่ Chatbot สำหรับให้ข้อมูลสินค้า, Chatbot สำหรับแจ้งเตือนค่าบริการสินค้า และอื่น ๆ โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ได้แก่
Dialogflow : Low-Code Platform สร้าง Chatbot ที่สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรม Messenger ได้โดยตรง ทั้งยังสามารถเทรนด์ Chatbot ด้วยการพิมข้อความตัวอย่างแล้วระบุ Intent ของลูกค้า ทดลองใช้งานที่นี่
เครื่องมือกลุ่ม Process Automation
เครื่องมือ Low-Code กลุ่ม Process Automation เน้นใช้เพื่อลดงานซ้ำซ้อน (Repetitive Task) ที่จากเดิมต้องใช้คนทำ แล้วมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาด ผ่านการสร้างโปรแกรมที่ทำงานแทนเรา โดยประโยชน์หลัก ๆ ที่ใช้กันบ่อยในภาคธุรกิจได้แก่
สร้างระบบการทำงานเอกสารอัตโนมัติ (Document Automation) ด้วย Low-Code
ใช้ Low-Code เพื่อลดงานเอกสารต่าง ๆ เช่น การสร้างเอกสารอัตโนมัติ, การอ่าน และบันทึกข้อมูลไฟล์ PDF, การอ่านอีเมล โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ซึ่งมีอีกชื่อเรียกว่า Robotic Process Automation (RPA) ได้แก่
UiPath : Low-Code Platform สร้างโปรแกรมอัตโนมัติสำหรับการทำงานซ้ำซ้อนแทนเรา ที่รองรับการแสกนภาพเป็นข้อความ (OCR) , การแปลงข้อมูลเอกสาร (Document Processing) ไปจนถึงการดึงข้อมูลจากเว็บไซต์อัตโนมัติ (Web Scraping) ทดลองใช้งานที่นี่
สร้างระบบการทำการตลาดอัตโนมัติ (Marketing Automation) ด้วย Low-Code
ใช้ Low-Code เพื่อสร้างระบบทำการตลาดแบบอัตโนมัติที่เราสามารถตั้งค่าเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำการตลาดแบบรายบุคคล (Personalize Marketing) และเชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่น ๆ เช่นการส่งอีเมลส่วนลดเฉพาะคนที่กรอกอีเมลในแบบฟอร์มในเว็บไซต์ โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ได้แก่
Zapier : Low-Code Platform สร้างระบบอัตโนมัติสำหรับการทำการตลาดทำได้ตั้งแต่การอ่านอีเมล ไปจนถึงการส่ง SMS กลับไปหาลูกค้า ทดลองใช้งานที่นี่
เครื่องมือกลุ่ม AI / Data
เครื่องมือ Low-Code กลุ่ม AI / Data เน้นใช้เพื่อสร้าง Application ที่มีจุดเด่นเรื่องการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล ธุรกิจที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลลูกค้า หรือข้อมูลการขายอยู่แล้ว และต้องการสร้าง Application บางอย่างโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ เช่น โปรแกรมแนะนำการขายสินค้าตามช่วงเวลา (Product Recommendation), โปรแกรมทำนายยอดขาย (Sale Prediction) หรือโปรแกรมทำนายการเลิกใช้บริการ (Churn Prediction) โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ได้แก่
Akkio : Low-Code Platform สำหรับสร้างเครื่องมือกลุ่ม AI / Data ที่สามารถทำได้ตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล ไปจนถึงสร้าง Web App เพื่อเข้าใช้งานได้เลย ทดลองใช้งานที่นี่
จุดเด่นของเครื่องมือกลุ่ม Low-Code Platform
แม้ว่า Low-Code Platform จะมีความสามารถในการทำงานได้หลายอย่าง แต่ที่ใครหลาย ๆ คนเลือกที่จะเริ่มพัฒนา Application ด้วย Low-Code Platform แทนที่จะใช้บริการโปรแกรมเมอร์ หรือบริษัท Software House มาสร้าง Application ให้เรา เพราะจุดเด่นเหล่านี้
Low-Code Platform ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มพัฒนา Application ได้ทันที
การเริ่มพัฒนา Application ด้วย Low-Code Platform สามารถเริ่มทำได้ทันที ไม่ต้องมีติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่มเติม เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ ก็สามารถสร้าง Account เพื่อเริ่มใช้งานได้เลย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว Low-Code Platform มักจะออกแบบมาให้สามารถเริ่มสร้าง Application ได้ง่ายผ่านการ
- มีช่วงให้ทดลองใช้งานฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- ส่วนใหญ่สามารถใช้งานผ่าน Browser ได้โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่มเติม
- มีตัวอย่าง และวีดีโอสอนการใช้งาน ที่สามารถศึกษาได้
- มี Template ให้พร้อมใช้งาน เพียงแค่เลือก Template ที่ตรงกับงาน และตั้งค่าปรับแต่งให้เข้ากับธุรกิจ
นอกจากนี้ Low-Code Platform ยังส่งเสริมให้ผู้พัฒนา Application เป็นคน ๆ เดียวกับคนที่ใช้ Application โดยปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในการพัฒนา Application ก็คือ
คนพัฒนา Application ไม่ได้ใช้ Application ส่วนคนใช้ Application ไม่สามารถพัฒนา Application เองได้
ซึ่งทำให้ต้องมีการสื่อสารไป ๆ มา ๆ ระหว่างคนพัฒนาและ คนใช้เพราะต่างฝ่าย ต่างไม่เข้าใจความต้องการซึ่งกันและกัน การที่ Low-Code Platform เปิดโอกาสให้คนใช้ Application สามารถพัฒนา Application เองได้ ย่อมสามารถสร้าง Application ได้ตรงความต้องการของงานของตัวเองมากกว่า อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกร่วมในการพัฒนางานของตัวเองอีกด้วย
Low-Code Platform ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา และการดูแลระบบ
จากจุดเด่นของ Low-Code Platform ที่ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มพัฒนาได้ ทำให้คนในบริษัทสามารถเริ่มพัฒนา Application ได้เอง ซึ่งหากศึกษาลงลึก และสามารถใช้งานได้อย่างเชี่ยวชาญแล้ว จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา Application ได้มากกว่า การจ้างงานจากภายนอกเพราะตัดกระบวนการบางอย่างออกไปเช่น
- ขั้นตอนเอกสาร และกระบวนการขายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการจ้างงาน
- ขั้นตอนการประชุม หรือแจกแจงรายละเอียดงาน
รวมถึงรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายของ Low-Code Platform ที่คิดค่าบริการตามการใช้จริง (Pay per usage) หรือคิดเป็นแบบรายเดือน (Subscription) ที่ทำให้องค์กรไม่ต้องลงทุนเงินจำนวนมหาศาลในตอนแรกเริ่มซึ่งถือเป็นค่าที่ใช้จ่ายที่สูง และมีความเสี่ยงกับการเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในบริษัท
นอกจากนี้เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนา Application ตัว Low-Code Platform ก็ช่วยดูแลให้แทน เช่น
- การอัปเกรดระบบ เพื่อรักษาความปลอดภัยทางข้อมูล
- การตั้งค่าและติดตั้ง Server เพื่อให้ระบบสามารถใช้งานออนไลน์ได้
และอื่น ๆ
Low-Code Platform ช่วยลดเวลาในการพัฒนาระบบ ทำให้สินค้าออกสู่ตลาดได้ไว
อีกหนึ่งความสามารถของ Low-Code Platform ที่หลายคนให้ความสนใจคือความสามารถในการขึ้นชิ้นงาน หรือสร้าง Application ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ทำให้มีหลายกรณีที่องค์กรธุรกิจ เลือกใช้ Low-Code Platform เพื่อทำ Application ต้นแบบ สำหรับให้ลูกค้าลองใช้งาน ก่อนจะพัฒนาเพิ่มเติมด้วย Low-Code เดิม หรือเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมเมอร์ในการสร้าง Application ขึ้นมา
โดยเหตุผลที่สำคัญของการทำ Application ต้นแบบคือเพื่อใช้ในการทดสอบตลาด และทำวิจัยตลาดเบื้องต้น ก่อนที่ธุรกิจจะต้องลงทุนมหาศาล ทำ Application เวอร์ชั่นสมบูรณ์
ข้อจำกัดของเครื่องมือกลุ่ม Low-Code Platform
เครื่องมือกลุ่ม Low-Code Platform ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายเป็นหลัก ทำให้มีข้อจำกัดด้านอื่น ๆ ที่องค์กรควรพิจารณาดังนี้
Low-Code Platform ปรับแต่งระบบได้จำกัด
หากเปรียบเทียบการจ้างโปรแกรมเมอร์ หรือบริษัท Software House มาสร้าง Application เหมือนการซื้อกล้องถ่ายภาพมืออาชีพราคาแพงที่สามารถปรับแต่งได้มากมาย ซึ่งมีข้อดีคือ องค์กรจะได้ Application ตามที่ต้องการ แต่แลกมากับค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่สูง
การเลือกใช้ Low-Code Platform ก็เปรียบเสมือนกล้องถ่ายภาพสำหรับมือสมัครเล่นที่อาจจะปรับแต่งได้ไม่เยอะ แต่โดยทั่ว ๆ ไป สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกันหากเลือกดี ๆ ดังนั้นหากองค์กรมี Business Requirement ที่ซับซ้อน ต้องศึกษาดี ๆ ว่า Low-Code Platform นั้นรองรับการใช้งานแบบนี้ได้หรือไม่ หรืออาจจะปรึกษากับตัวแทนของ Low-Code Platform นั้น ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกใช้
Low-Code Platform เชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ได้จำกัด
Low-Code Platform โดยพื้นฐานแล้ว จะถูกออกแบบมาให้ทำงานทั้งระบบได้ด้วยตัวเอง แต่หากองค์กรต้องการเชื่อมต่อกับระบบเดิมในองค์กรที่มีอยู่แล้ว (ฐานข้อมูลเดิมในองค์กร) หรือระบบอื่น ๆ (โปรแกรมตัวอื่น ๆ ที่องค์กรใช้อยู่) เข้ากับตัว Low-Code Platform อาจจะต้องตรวจสอบดี ๆ ว่าระบบรองรับการเชื่อมต่อหรือไม่
และอีกปัญหานึงคือ เมื่อองค์กรเลือกใช้ Low-Code Platform ของที่นึงไปแล้ว หากติดปัญหา หรือต้องการจะยกเลิกการใช้งาน หรือต้องการจะย้ายไปใช้ Platform อื่น อาจจะทำได้ยาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เรียกว่า การผูกติดกับเทคโนโลยีของ Platform นั้น ๆ (Vendor Lock -in) ทำให้ไม่สามารถย้ายระบบจาก Platform นึงไปอีก Platform นึงได้ ซึ่งอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดว่าสามารถเชื่อมต่อได้มากน้อยแค่ไหน หรือต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมมั้ย
คุณภาพของ Application จาก Low-Code Platform ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนา
การที่ Low-Code Platform ขึ้นชื่อว่าสามารถให้พนักงานทั่ว ๆ ไป สามารถพัฒนา Application ได้ด้วยตัวเองนั้น ไม่ได้แปลว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถสร้าง Application ได้ดี เพราะการจะพัฒนา Application ให้ดีซึ่งหมายถึง การรองรับการใช้งานในปริมาณมาก การที่จะสามารถแก้ไข Application เพื่อเพิ่มระบบอื่น ๆ เข้าไป ยังคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือความรู้การเขียนโปรแกรมอื่น ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้
ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วเพื่อให้สามารถใช้งาน Low-Code Platform ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานเหล่านั้นควรมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Platform นั้น ๆ เพื่อให้สามารถใช้งาน Platform นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือควรทำงานร่วมกับแผนก IT ในบริษัท โดยพนักงานทั่วไปมีหน้าที่ในการพัฒนา Application โดยใช้ Low-Code Platform ในขั้นต้น และแผนก IT มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนในเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบทำงานได้ดี
เมื่อไหร่ที่ไม่ควรใช้ Low-Code Platform ?
หนึ่งในสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของการใช้ Low-Code Platform คือการมองข้ามข้อจำกัดของ Low-Code Platform และพยายามพัฒนา Application จาก Low-Code Platform ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาในอนาคต โดยในส่วนนี้ เราได้ตกผลึกจากการให้คำปรึกษา และพัฒนา Application ด้วย Low-Code Platform ให้องค์กรต่าง ๆ ตัว Low-Code Platform ไม่เหมาะกับงานเหล่านี้
Low-Code Platform ไม่เหมาะกับการพัฒนา Application ที่เป็น Core Product หลักของธุรกิจ
หาก Application ที่คุณกำลังจะสร้างอยู่นั้น เป็นส่วนหลักของธุรกิจคุณ เช่นคุณเป็นบริษัทที่ทำ Application ช้อปปิ้งออนไลน์ เป็นบริการหลัก คุณไม่ควรทำ Application นั้นด้วย Low-Code Platform เพราะเมื่อมีคู่แข่ง หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ตัว Application แบบ Low-Code นั้นจะพัฒนา หรือปรับเปลี่ยนไม่ทันเท่าเทียมกับ Application ที่พัฒนาด้วยโปรแกรมเมอร์ ซึ่งกว่า Application แบบ Low-Code นั้นจะมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เท่าทันการแข่งขัน ก็ต้องรอไปอีกสักพักนึง
หรือกรณีที่พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ตัว Low-Code Application ที่เคยใช้งานได้ดีก็อาจจะปรับแต่งให้รองรับความต้องการของลูกค้าไม่ได้เช่นกัน
Low-Code Platform ไม่เหมาะกับการพัฒนา Application ที่มีความถี่การใช้งานสูง
หาก Application ที่พัฒนาด้วย Low-Code นั้น มีความถี่ในการใช้งาน และการบันทึกข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะ ตัว Low-Code Application นั้นยิ่งต้องการความสามารถในการเรื่องการพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้รองรับการใช้งานในปริมาณมาก ในหลาย ๆ ครั้งเรามักจะพบว่า พนักงานทั่ว ๆ ไป ไม่สามารถพัฒนา Application ด้วย Low-Code Platform ให้สามารถรองรับการใช้งานได้เยอะ ๆ แต่ยังคงต้องพึ่งพาโปรแกรมเมอร์ในบางส่วนของงานอยู่
และอีกสาเหตุนึงที่ Low-Code Platform ไม่เหมาะกับการพัฒนา Application ที่มีความถี่การใช้งานที่สูงเพราะรูปแบบการคิดค่าบริการที่บาง Platform อาจจะคิดค่าใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานแบบขั้นบันได ซึ่งหากมีการใช้งานที่มีความถี่การใช้งานค่อนข้างสูง การจ่ายค่าบริการแบบรายเดือน หรือแบบตามการใช้งานจริง อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าการซื้อบริการแบบซื้อขาด
Low-Code Platform เหมาะกับการสร้าง Application ที่เน้นลดค่าใช้จ่ายในองค์กรเป็นหลัก
ด้วยข้อจำกัด และความเหมาะสมทางธุรกิจ ในบทความนี้ขอแนะนำให้เลือกใช้ Low-Code Platform สำหรับการพัฒนา Application ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในองค์กรเป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่า การลดค่าใช้จ่ายในองค์กรเมื่อลดค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มประสิทธิภาพได้ถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว จะไม่สามารถปรับปรุงไปได้มากกว่านี้อีกซึ่งเหมาะกับ Low-Code Application ในขณะที่ Application ที่เป็นสินค้า หรือบริการหลักของบริษัทต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยังสามารถแข่งขันในตลาด และตอบรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้จึงต้องมีการพัฒนา Application ด้วยการเขียนโปรแกรมเพื่อให้ยืดหยุ่นต่อการพัฒนา
สุดท้ายแล้ว เราควรใช้เครื่องมือ Low-Code หรือไม่ ?
แม้เครื่องมือกลุ่ม Low-Code Platform จะมีข้อจำกัด แต่หากใช้อย่างเข้าใจข้อจำกัดของระบบ ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าวิธีการพัฒนา Application แบบดั้งเดิม โดยหากมีงบประมาณจำกัดให้เลือกสร้าง Application ผ่าน Low-Code Platform เมื่อ Application นั้นไม่ซับซ้อนมาก ไม่ใช่ส่วนหลักของธุรกิจ และไม่ต้องการปรับแต่งอะไรมากมาย
แต่หากเป็น Application ที่ซับซ้อน มีผู้ใช้ และรอบการใช้งานที่ถี่ ในบทความนี้ก็ยังคงแนะนำให้พัฒนา Application ผ่านการว่าจ้างโปรแกรมเมอร์ หรือบริษัท Software House อยู่ดี
มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?
หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้