ในยุคนี้ เราจะได้เจอกฏหมายใหม่ ๆ ที่เข้ามาตามกำกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนทั่วไปมากขึ้น ตั้งแต่กฏหมายที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์, การซื้อคริปโตเคอเรนซี่, กฏหมายทางธุรกิจ ไปจนถึงกฏหมายข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
ถึงแม้ว่ากฏหมายจะถูกปรับปรุงให้ทันสมัยเข้ากับยุคอยู่เสมอ แต่กระบวนการบังคับใช้กฏหมายยังคงเป็นในแบบเดิม ๆ จึงได้มีกลุ่มนักกฏหมายรุ่นใหม่ที่อยากจะทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซึ่งเรียกกันว่า LegalTech
Disclaimer: ผู้เขียนไม่ใช่นักกฏหมาย เป็นแค่นักพัฒนาซอฟแวร์จึงเขียนบทความนี้ออกมาในแง่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก
LegalTech คืออะไร ?

LegalTech หรือ Legal Technology คือการนำซอฟแวร์หรือเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกฏหมาย ผ่านการเพิ่ม Productivity และลดข้อผิดพลาดจากคนด้วยกันเอง
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า LegalTech เข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือส่งเสริมการทำงานของนักกฏหมายอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฏหมายที่มีประสิทธิภาพที่สุด เราควรคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อย่างเช่นประชาชนทั่วไปที่ต้องอยู่ภายใต้กฏหมาย
ลองนึกภาพวันธรรมดาของคุณ
คุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องการจะจดทะเบียนบริษัทเป็น นิติบุคคล คุณต้องพิมพ์เอกสารแจ้งความจำนงออกมาจากอินเตอร์เน็ตแล้วนั่งเขียน พร้อมกับเซ็นท์ลายเซ็นท์ทีละหน้า ๆ จากนั้นจึงต้องไปยื่นเอกสาร พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน รวมทั้งหมดแล้ว อาจใช้เวลาถึง 15 วันเลยทีเดียว
เหตุการณ์แบบนี้ ก็อยู่ในขอบเขตที่ LegalTech จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยเหมือนกัน
นักกฏหมายทำงานอย่างไร ? เข้าใจการทำงานของนักกฏหมาย
เนื่องจากวงการกฏหมายเป็นวงการที่มีวิธีการทำงานเฉพาะเป็นของตัวเอง ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจ Legal Process ก่อนเพื่อจะได้เข้าใจว่าเทคโนโลยีมาช่วยส่วนไหนได้บ้าง โดยในบทความนี้ จะยกตัวอย่าง กระบวนการทำงานคร่าว ๆ ของตำแหน่ง Paralegal ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจากการสัมภาษณ์เพื่อนของผู้เขียน
(หมายเหตุ: ส่วนนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้คนที่ไม่ใช่นักกฏหมายได้เห็นภาพคร่าว ๆ ของงานของนักกฏหมาย)
โดยทั่ว ๆ ไปแล้วงานกฏหมายในบริษัทกฏหมาย อาจจะแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือส่วนให้คำปรึกษากฏหมาย ในกรณีที่ลูกค้าบริษัทต่าง ๆ ต้องการทำสัญญาทางธุรกิจให้สามารถบังคับใช้ทางกฏหมายได้ ก็จะไปปรึกษานักกฏหมายให้ให้คำแนะนำ และร่างเอกสารกฏหมายได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ยังไม่มีข้อบังคับทางกฏหมายที่ชัดเจน
ในอีกส่วนนึงคือการไปทำหน้าที่เป็นทนายว่าความให้ลูกค้า โดยลูกค้าบริษัทจะติดต่อเข้ามาให้เป็นทนายความให้ นักกฏหมายก็มาหน้าที่รับฟังลูกค้า และค้นหาข้อมูลเพื่อสนับสนุน ยื่นคำฟ้อง หรือโต้แย้งข้อพิพาททางกฏหมายที่เกิดขึ้นกับทางศาลต่อไป
แล้ว LegalTech เข้ามาแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกฏหมายยังไงได้บ้าง ?
ส่วนใหญ่แล้ว LegalTech ที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้จะเป็น Software หรือ Platform ที่ช่วยให้นักกฏหมายทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น และลดงานซ้ำซ้อนบางอย่างที่สามารถให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนให้ได้เช่นงานรีวิวเอกสาร งานสืบค้นคดีความที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการพยายามทำให้กฏหมายเป็นเรื่องสำหรับคนทั่วไป ผ่านการใช้เว็บไซต์ แชทบอท และเทคโนโลยีอื่น ๆ
กลุ่มนวัตกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกฏหมายสามารถแบ่งได้คร่าว ๆ 5 แบบดังนี้
1. TeleLegal

TeleLegal คือการให้บริการคำปรึกษาทางกฏหมาย ผ่าน Video Call ซึ่งค่อนข้างใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเชื้อไวรัส Covid-19 ระบาด เพื่อทดแทนการให้คำปรึกษาแบบต่อหน้า เหมือนในวงการแพทย์ที่มีการทำ TeleMed ซึ่งในกรณีการพูดคุยปรึกษาเรื่องกฏหมายกับทนาย การใช้โปรแกรม Video Call ทั่ว ๆ ไป อย่าง Zoom ก็เพียงพอแล้ว จะมีบางกรณีที่อาจจะมีงานเอกสารมาเกี่ยวข้องก็สามารถทำผ่าน DocuSign ได้
2. Project / Contract Management
ในบริษัทกฏหมาย หรือทนายความที่ว่าความให้ลูกค้าหลาย ๆ เจ้า ย่อมต้องการเครื่องมือสำหรับบริหารโครงการ และเอกสารแต่ละโครงการอยู่แล้ว แต่ Software ในตลาดอาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมกฏหมายเท่าที่ควร เลยมีคนทำ Software สำหรับบริษัทกฏหมายโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น
Brightflag

Brightflag เป็นแพลตฟอร์ม Legal Project Management ที่ช่วยให้นักกฏหมายหลาย ๆ คนทำงานร่วมกันได้ โดยหน้าตาของโปรแกรมจะเหมือน Project Management Software ที่สามารถดูไทม์ไลน์แต่ละโปรเจค ดูงบประมาณที่ใช้ รวมไปถึงการจัดเก็บเอกสาร สร้างใบเสนอราคา และสรุปการประชุม
3. Contract Review Assistant
Contract Review หรือกระบวนการตรวจสอบเอกสารสัญญา ก่อนการทำสัญญาทางกฏหมายของบริษัท เป็นส่วนที่ยังคงมีการใช้นักกฏหมายตรวจสอบสัญญาทีละชิ้น ๆ กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญ เพราะหากเกิดข้อพิพาทกันภายหลัง แล้วต้องมีคดีความขึ้นศาล ตัวสัญญาจะเป็นหลักฐานหลักในการตัดสิน เลยมีคนพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้ Contract Review Process มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการใช้ Artificial Intelligence ในการสกรีนเอกสารสัญญาเพื่อช่วยลดงานในการตรวจสอบของนักกฏหมาย ตัวอย่างเช่น
Loio

Loio เป็น Microsoft Word Extension สำหรับนักกฏหมายที่เคลมว่าตัวโปรดักซ์ Contract Review Automation ของตัวเองสามารถช่วยสนับสนุนนักกฏหมายในเอกสารสัญญาที่มีความซับซ้อนปานกลาง อย่างเอกสาร NDAs, SLAs, SOWs เป็นต้น โดยการสกรีนเอกสารส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบคำ และประโยคทางกฏหมายเพื่อแนะนำนักกฏหมายในการปรับเอกสารข้อกฏหมายให้ดียิ่งขึ้น
4. Legal Research
ในการว่าความของทนายความเวลามีการฟ้องร้อง มักจะอ้างอิงจากกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงที่เคยได้มีการตัดสินไปแล้ว เพื่อเสนอแนะข้อชี้แนะของตน คล้าย ๆ กับการทำอ้างอิงในหนังสือ ในสมัยก่อนกระบวนการเหล่านี้คือการไปตามห้องสมุด เพื่อสืบค้นคดีความที่เกี่ยวข้องแต่ในสมัยนี้สามารถสืบค้นได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น
Casetext

Casetext เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับคำตัดสินทางกฏหมายในอดีต โดยส่วนใหญ่แพลตฟอร์มของ Casetext จะรวบรวมคำตัดสินใจของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เพราะแต่ละรัฐมีข้อกฏหมายที่แตกต่างกันยิบย่อย ทำให้ข้อกฏหมายเยอะตามขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นความท้าทายของการทำ Legal Research คือการสรุปรวบประเด็นต่าง ๆ ซึ่งยังคงต้องทำโดยนักกฏหมายเป็นหลัก
5. User Experience
ในหมวดนี้คือหมวดที่เกี่ยวกับโปรดักซ์ที่ช่วยให้ Legal Experience หรือประสบการณ์ของการบังคับใช้กฏหมายดียิ่งขึ้นโดยสนใจไปที่การทำให้กฏหมายเป็นเรื่องง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยให้ประชาชนรู้สึกเชิงบวก สะดวกใจ และมั่นใจในกฏหมายของรัฐตัวเองมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
Farewill

Farewill เป็นแพลตฟอร์มสร้างและจัดการเอกสารพินัยกรรมหลังความตายในประเทศอังกฤษ ที่เข้ามาแก้ปัญหาความวุ่นวายในการทำเอกสารพินัยกรรมที่ซับซ้อน หรือแม้แต่การจัดการมรดก ตัวเว็บไซต์ทำให้เรื่องน่าเบื่อเหล่านี้ เป็นเรื่องง่ายผ่านการทำเอกสารออนไลน์ภายใน 15 นาที และด้วยการออกแบบเว็บไซต์ที่เป็นมิตร ทำให้การพูดถึงเรื่องความตายไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิดเลย
iTax

iTax เป็นแพลตฟอร์มประเมิน และวางแผนภาษี ที่ช่วยให้การวางแผนลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องง่าย ผ่านการบันทึกข้อมูลรายได้ และข้อมูลการลดหย่อนภาษีของตัวเอง ซึ่งเหมาะมาก ๆ กับคนทั่วไปที่ไม่มีเวลาศึกษาเรื่องภาษีอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าหากต้องศึกษาเอง อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำความเข้าใจภาษากฏหมาย และเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
มีไอเดียเกี่ยวกับ LegalTech จะเริ่มต้นยังไงดี ?
โชคดีมาก ๆ ที่ตอนนี้หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาได้เห็นความสำคัญของ LegalTech เราจึงได้เห็นแหล่งบ่มเพาะ (Incubator) ที่ช่วยให้นักศึกษา, บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มธุรกิจที่มีความสนใจใน LegalTech ได้มีจุดตั้งต้นในการเริ่มพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง
โดยข้อดีอีกอย่างของการเข้าร่วมแหล่งบ่มเพาะเหล่านี้คือการได้มี Connection ที่ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมกฏหมายโดยตรง ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญเลยที่อาจทำให้เราได้เจอนักลงทุน หรือลูกค้าที่สนใจ นวัตกรรมของเราก็เป็นได้
โดยหน่วยงานที่สนับสนุน LegalTech ผ่านกิจกรรมบ่มเพาะ และการให้เงินทุนต่าง ๆ ได้แก่
1. Chula Legal Tech

Chula Legal Tech เป็นโครงการของคณะนิติศาสตร์ จุฬา ฯ ร่วมกับ Tilleke & Gibbins สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่พร้อมสนับสนุนไอเดียและเงินทุนกับนวัตกรรมที่น่าสนใจผ่านการจัดการแข่งขันนวัตกรรมด้านกฏหมายให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจัดมาปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท
https://web.facebook.com/ChulaLegalTech
2. National Innovation Agency (NIA)

National Innovation Agency (NIA) หรือสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีโครงการจัดสรรทุนให้เปล่าสำหรับคนทั่วไป และกลุ่มบริษัทในการพัฒนานวัตกรรมเชิงธุรกิจ โดยมีทุนให้เปล่าตั้งแต่ 750,000 บาท ไปจนถึง 1.5 ล้านบาท (โดยปกติ NIA จะสนับสนุนนวัตกรรมเชิงธุรกิจมากกว่า แต่ก็มีหมวดหมู่ย่อยในบางปีที่เป็นเกี่ยวกับ LegalTech หรือ GovTech เช่นกัน)
3. The Electronic Transactions Development Agency (ETDA)

The Electronic Transactions Development Agency (ETDA) หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ องค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหานวัตกรรมเพื่อมาสนับสนุนธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ความพิเศษของโครงการของ ETDA การได้มีโอกาสได้ทดลองใช้ ETDA Sandbox ก่อนใคร ซึ่งช่วยส่งเสริมให้นวัตกรรมเกิดขึ้นจริง (กลุ่ม LegalTech ที่เข้าข่ายโครงการนี้จะเป็น LegalTech ที่เกี่ยวกับ SMEs เป็นหลัก)
LegalTech จะช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้อย่างไร ?

ประโยชน์ของ LegalTech คือการช่วยให้การบังคับใช้กฏหมายเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะแม่นยำขึ้น ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสุดท้ายแล้วการบังคับใช้กฏหมายก็เป็นไปเพื่อให้ทุก ๆ คนได้รับความยุติธรรม นั่นหมายความว่า LegalTech จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้โลกใบนี้เท่าเทียมมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไวใบนี้นั่นเอง
มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?
หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้
แหล่งอ้างอิง
- Market Engineering | SpringerLink
- (PDF) LEGAL TECH: LAW AND INFORMATION TECHNOLOGY (researchgate.net)
- Laws | Free Full-Text | Legaltech and Lawtech: Global Perspectives, Challenges, and Opportunities (mdpi.com)
- Top 10 LegalTech Startups globally
- LegalTech Landscape
ถาม – ตอบสั้น ๆ กับ Datayolk
LegalTech หรือ Legal Technology คือการนำซอฟแวร์หรือเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกฏหมายทั้งในเชิงการทำงานของนักกฏหมาย และการบังคับใช้กฏหมาย
ส่วนใหญ่แล้ว LegalTech ที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้จะเป็น Software หรือ Platform ที่ช่วยให้นักกฏหมายทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น และลดงานซ้ำซ้อนบางอย่างที่สามารถให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนให้ได้เช่นงานรีวิวเอกสาร งานสืบค้นคดีความที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการพยายามทำให้กฏหมายเป็นเรื่องสำหรับคนทั่วไป ผ่านการใช้เว็บไซต์ แชทบอท และเทคโนโลยีอื่น ๆ
โชคดีมาก ๆ ที่ตอนนี้หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาได้เห็นความสำคัญของ LegalTech เราจึงได้เห็นแหล่งบ่มเพาะ (Incubator) ที่ช่วยให้นักศึกษา, บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มธุรกิจที่มีความสนใจใน LegalTech ได้มีจุดตั้งต้นในการเริ่มพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง โดยข้อดีอีกอย่างของการเข้าร่วมแหล่งบ่มเพาะเหล่านี้คือการได้มี Connection ที่ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมกฏหมายโดยตรง ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญเลยที่อาจทำให้เราได้เจอนักลงทุน หรือลูกค้าที่สนใจ นวัตกรรมของเราก็เป็นได้