ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ได้มีกระแสตื่นตัวเรื่องความเป็นส่วนตัวในไทยมากขึ้น จากกรณีศึกษาของเว็บไซต์ E-commerce ชื่อดัง ที่ทำฐานข้อมูลลูกค้าหลุดไป ทำให้คนระมัดระวังการใช้บริการ หรือการให้ข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
ประกอบกับการที่พักหลัง ๆ เว็บไซต์ต่าง ๆ เริ่มมีหน้าต่างป็อปอัพที่สอบถาม การยอมรับ / ไม่ยอมรับ Cookie ซึ่งผู้ใช้อย่างเรา ๆ ก็งง ว่า Cookie คืออะไร แล้วกดยอมรับ หรือไม่ยอมรับมันดียังไง? จะเสี่ยงต่อข้อมูลหลุดมั้ย? มันเก็บข้อมูลเราอะไรไปบ้าง?
ในวันนี้ บทความของเราจะมาอธิบาย Cookie ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานยอดนิยมของนักการตลาดที่ใช้ติดตามผู้ใช้เว็บไซต์มาอย่างยาวนาน พร้อมวิธีตรวจเช็ค Cookie ของแต่ละเว็บไซต์ด้วยตัวเอง
Cookie คืออะไร ?
Cookie คือไฟล์ขนาดเล็กที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของเรา เมื่อเราเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เว็บไซต์นั้นจะส่ง Cookie เข้ามาเก็บใว้ในเครื่องเรา (แต่ไม่จำเป็นว่าทุกเว็บไซต์ต้องมี Cookie นะ) โดยภายในไฟล์ Cookie จะเก็บ ID ของเราซึ่งเป็นตัวเลขที่สุ่มขึ้นไม่ซ้ำกันเช่น 12092398575 (คล้าย ๆ หมายเลขประจำตัวตอนเข้าสอบ) เพื่อให้ระบบจดจำผู้ใช้ได้
โดยทุก ๆ Cookie จะระบุระยะเวลาในการเก็บตั้งแต่ 30 วินาที ไปจนถึง 10 ปี หรือตลอดกาล (จนกว่าผู้ใช้จะลบ Cookie นั้นเอง)
นอกจากการใช้ Cookie ในการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้แล้ว ยังมี Local storage ที่สามารถใช้ติดตามพฤติกรรมผู้ใช้ได้เหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้จะไม่กล่าวถึง
ทำไมต้องเรียก Cookie ว่าคุ้กกี้ ?
ยังไม่มีที่มาที่ชัด แต่คาดเดาว่า น่าจะหยิบยกคำนี้มาจากนิทานเรื่อง Hansel and Gretel ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสองพี่น้องที่ถูกพาเข้าไปทิ้งในป่าใหญ่โดยพ่อ กับแม่เลี้ยง แต่ก็สามารถหนีออกมาได้โดยการแอบวางเศษคุ้กกี้ไว้ระหว่างทาง เพื่อเป็นรอยเท้าไว้เดินทางออกมาจากป่าใหญ่ ซึ่งเทียบเคียงกับความตั้งใจแรกของนักพัฒนาในการสร้าง Cookie ได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์ของ Cookie ?
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของ Cookie เลยคือมันจะจดจำการตั้งค่าของเราบนเว็บไซต์เช่น ภาษาที่ใช้ในเว็บไซต์ (ผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนภาษาใหม่ทุกครั้งที่เข้าหน้าเว็บไซต์) ขนาดตัวอักษรสำหรับผู้สูงอายุ ความแตกต่างของสีสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น หากไร้ซึ่งคุ้กกี้แล้ว ทุกครั้งที่ผู้ใช้เข้าเว็บไซต์ของเรา ผู้ใช้ต้องมาตั้งค่าสิ่งเหล่านี้ใหม่ทุกครั้ง
หรือเว็บไซต์ที่มีการซื้อสินค้า หรือกรอกข้อมูล เมื่อเราปิดเว็บไซต์แล้วเปิดใหม่ สินค้าในตระกร้า หรือข้อมูลที่เราเคยกรอกไปบางส่วนแล้วก็จะหายไปหมด ซึ่งความสะดวกของ Cookie มันเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไรเลย
ทั้งนี้ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพของเว็บไซต์ และความปลอดภัยของตัวเว็บไซต์อีกด้วย
ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ Cookie
ถึงแม้ว่า Cookie จึงถูกเก็บบนเครื่องเรา แต่มันก็เหมือนไฟล์เอกสารทั่ว ๆ ไป ที่ไม่สามารถรันคำสั่งเอง หรือก็อปปี้ตัวเองเหมือนไวรัสอะไรต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้น Cookie ไม่สามารถทำอันตรายเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้เลย แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่มีคนพูดถึงกัน อยู่ใน Cookie บางประเภทต่างหาก
ถ้าเว็บไซต์ไหนไม่มี Cookie แปลว่าเว็บไซต์นั้นติดตามเราไม่ได้เลยใช่มั้ย ?
ไม่เสมอไป เพราะโดยปกติแล้วเวลาเราเข้าเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม มันคือการที่เครื่องคอมพิวเตอร์เราขอข้อมูลจากคอมพิวเตอร์อีกเครื่องนึง เหมือนตอนเราไปห้องสมุดแล้วขอยืมหนังสือจากบรรณารักษ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่บรรณารักษ์จะต้องบันทึกข้อมูลผู้มายืม ในโลกของอินเตอร์เน็ต อาจจะเป็น IP Address, Geolocation เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อเราเข้าเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม เจ้าของเว็บไซต์นั้นจะได้ข้อมูลบางส่วนอยู่แล้ว (ส่วนจะเก็บบันทึกไว้ หรือไม่ได้เก็บก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ เช่นบางเว็บไซต์ต้องเก็บเพื่อเวลามีการโจรกรรมข้อมูลจะได้ตามตัวได้ง่าย) แต่ Cookie จะเปรียบเสมือนการมีบัตรสมาชิกทำให้บรรณารักษ์ หรือเจ้าของเว็บไซต์จดจำเราได้ ว่าเราเป็นคนเดิมกับคนที่ยืมมาเมื่อวันก่อน ซึ่งมันสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์เห็น Pattern ของการใช้งานเว็บไซต์เพื่อนำไปพัฒนาเว็บไซต์ต่อไป
Cookie มีกี่ประเภท ?
ถ้าแบ่งตามหน้าที่ จะแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ
- Functional Cookie เป็น Cookie ที่จำเป็นต่อระบบโดยตรง หากปฏิเสธ Cookie เหล่านี้แล้ว เว็บไซต์อาจจะทำงานไม่ได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Cookie ที่สร้างมาจากตัวเว็บไซต์นั้นเอง เรียกว่า First party cookie เช่น Cookie ระบบตระกร้าสินค้า , Cookie จดจำภาษาถิ่นของผู้ใช้
ตัวอย่าง Cookie ในกลุ่มนี้เช่น Happylocaltimezone ของ WeDev (ไว้อ่านค่าเวลาของผู้ใช้ เพื่อซ่อนหรือปิดฟังก์ชั่นบางอย่างตามเวลา) , LinkedIn_oauth_ ของ Linkedln (ไว้จำผู้ใช้ที่เข้าใช้เว็บไซต์ โดยการล็อคอินผ่าน LinkedIn) - Analytics Cookie เป็น Cookie ที่ออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์การใช้งานของผู้ใช้ โดยเป้าประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ส่วนใหญ่เป็น Cookie ที่สร้างโดยบริษัทอื่น โดยไม่มีการส่งต่อไปถึงบุคคลที่สาม จึงเรียกว่า Second party cookie
Cookie พวกนี้อาจจะเก็บว่า มีผู้ใช้เข้าเว็บไซต์นั้นกี่ครั้ง ใช้เวลาต่อครั้งเท่าไหร่ กดปุ่มตรงไหน ส่วนใหญ่รู้ในเชิงพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์เป็นหลัก
ตัวอย่าง Cookie ในกลุ่มนี้เช่น __gat เป็นของ Google Analytics , _hjRecordingEnabled เป็นของ Hotjar (ไว้สำหรับบันทึกการใช้งานเว็บไซต์) เป็นต้น - Marketing Cookie เป็น Cookie ที่ออกแบบมาเพื่อโฆษณาข้ามเว็บไซต์โดยเฉพาะ เพราะปกติแล้วผู้ใช้มีการท่องเว็บไซต์ไปมาหลาย ๆ เว็บ แต่ละเว็บไซต์ก็จะมีข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าอย่างละนิดอย่างละหน่อย เช่น เว็บไซต์ขายของออนไลน์ อาจจะรู้ว่าผู้ใช้ดูสินค้าไหน ส่วนเว็บไซต์ข่าว อาจจะรู้ว่าผู้ใช้อ่านบทความไหน จึงมีคนหัวใสคิดไอเดียที่จะแชร์ Cookie ระหว่างกัน เพื่อให้ระบุตัวตนผู้ใช้ข้ามเว็บไซต์ได้โดยมีการแชร์ Cookie ร่วมกันเป็นคล้าย ๆ เครือข่ายโฆษณา (Advertisement network)
วิธีนี้ทำให้การทำการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกรณีที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ใช้เข้าเว็บไซต์ขายของออนไลน์เพื่อดูสินค้าอาหารสุนัข แล้วมาเห็นโฆษณาอาหารสุนัขใน Facebook อีกนั่นเพราะ เขามีการแชร์ Cookie กันนั่นเอง ทำให้เราเหมือนโดนโฆษณาตามหลอกหลอนไปตาม Platform ต่าง ๆ จึงเรียกว่า Third party cookie (เพราะทำกันเป็นขบวนการ)
Cookie แบบสุดท้ายนี้ เป็น Cookie ที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบมากที่สุด เพราะสร้างความรำคาญ เหมือนนักขาย ที่พยายามตื้อให้เราซื้อของอยู่นั้นแหละ หากคุณผู้อ่านสนใจ เรายังมีบทความ 3 กรณีศึกษาแย่ ๆ ของการทำ Personalized Marketing ในอดีตที่นักการตลาดอย่างเราเรียนรู้ได้ ให้ได้ศึกษาเพิ่มเติมด้วย
ตัวอย่าง Cookie ในกลุ่มนี้เช่น __gads เป็นของ Google DoubleClick (Google Ads), fr เป็นของ Facebook (สำหรับ Retargeting) เป็นต้น
วิธีตรวจเช็ค Cookie เวลาเข้าเว็บไซต์แบบง่าย ๆ
มีเครื่องมือฟรีที่ช่วยให้ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ตรวจสอบได้ว่าเว็บไซต์ที่เราเข้า แอบเก็บ Cookie อะไรบ้างพร้อมคำอธิบาย ที่ Cookieserve
Cookieserve เครื่องมือตรวจเช็ค Cookie บนเว็บไซต์ง่าย ๆ พร้อมคำอธิบาย
โดยที่เว็บไซต์ของ Cookieserve จะให้เราใส่ URL ของเว็บไซต์ที่เราสนใจ ว่ามีการติดตั้ง Cookie อะไรไว้บ้าง
เมื่อกด Find Cookies แล้ว จะได้ผลลัพธ์ดังนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ชื่อ Cookie
- แหล่งที่มาของ Cookie (ถ้ามาจากเว็บไซต์นั้น แสดงว่าเป็น First party cookie)
- หน้าที่การทำงานของ Cookie
- ระยะเวลาการเก็บ Cookie นั้น ก่อนระบบจะลบให้เองอัตโนมัติ
แต่ข้อเสียคือบางเว็บไซต์ที่ดีจะปิดกั้น Cookie ตัวเองเพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกว่า จะยินยอมให้ใช้ Cookie หรือไม่ จึงทำให้เว็บไซต์เหล่านั้น เมื่อสแกนผ่าน Cookieserve แล้วจะไม่เจอ Cookie ใด ๆ เลย ยกเว้นแต่ Functional Cookie ที่จำเป็น ซึ่งถือเป็นความจริงใจต่อผู้ใช้ที่ดีมาก ๆ แต่หากสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ เรากดยอมรับ Cookie ให้คลิกอ่านส่วน วิธีตรวจเช็ค Cookie แบบเชิงลึกสำหรับสายแข็ง
CookieMetrix เครื่องมือตรวจเช็ค Cookie บนเว็บไซต์ตามหลักกฏหมาย GDPR
CookieMetrix เป็นเว็บไซต์ตรวจเช็ค Cookie เหมือนกัน แต่นอกจากจะแสดงผลว่าเว็บไซต์ของเรามี Cookie อะไรบ้าง ตัว CookieMetrix ยังเอาเว็บไซต์ของเราไปเปรียบเทียบกับกฏหมาย GDPR โดยตรงเลย ว่ามีโอกาสละเมิดกฏหมาย GDPR ข้อไหนบ้าง โดยถ้ามีความเสี่ยง ระบบจะแสดงผลออกมาเป็นสีแดง แต่ถ้าข้อไหนผ่านจะแสดงผลออกมาเป็นสีเขียว
เมื่อกด Analyze แล้ว จะได้ผลลัพธ์ดังนี้ซึ่งประกอบไปด้วย
- เว็บไซต์ของคุณมี Banner / Popup สำหรับให้ผู้ใช้กดยินยอมหรือ ปฏิเสธ Cookie หรือไม่ ? (ในตัวอย่างไม่มี Banner เพราะไม่ได้ใช้ Cookie)
- เว็บไซต์ของคุณ มีการติดตั้ง Third-party service ที่อาจมีการเก็บ Cookie หรือไม่ ?
- เว็บไซต์ของคุณมีการเก็บ Cookie ผู้ใช้ก่อนขอ Consent หรือไม่ ?
วิธีลบ Cookie จากเว็บไซต์นั้น ๆ
วิธีลบ Cookie ของเว็บไซต์นั้น ๆ จาก Browser Chrome
วิธีตรวจเช็ค Cookie แบบเชิงลึกสำหรับสายแข็ง
วิธีเช็ค Cookie ของเว็บไซต์นั้น ๆ จาก Browser Chrome
เมื่อเห็นชื่อ Cookie แล้วสนใจว่า Cookie ชื่อนี้เอาไว้ทำอะไร เราสามารถเอาชื่อไปค้นหาได้ใน Cookie Database
Cookie Database เป็นโปรเจคที่ต้องการสร้างความโปร่งใสในการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งานบนอินเตอร์เน็ต ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Cookie ให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำความเข้าใจ และเลือกยอมรับ หรือไม่ยอมรับด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง
โดยโปรเจคนี้เริ่มในปี 2019 และที่สำคัญโปรเจคนี้เริ่มทำกันเองโดยกลุ่มอาสาสมัคร (ได้รับการสนับสนุนจาก Complianz)
รู้หรือไม่
ปัจจุบันมี Cookie ที่มีข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์ Cookiedatabase กว่า 25,500 ตัวแล้ว นั่นยิ่งทำให้การทำความเข้าใจ Cookie แต่ละตัวยิ่งมีความสำคัญเข้าไปใหญ่
แล้ว Datayolk ใช้ Cookie อะไรบ้าง ?
[พิเศษ] จะรู้ได้ยังไงว่าเขาไม่ได้แอบเอาไปใช้จริง ๆ ?
จากย่อหน้าที่แล้วเรารู้แล้วว่ามี Cookie อะไรบ้าง จากการตรวจสอบผ่าน Chrome DevTools
การจะตรวจสอบว่าเขาไม่ได้แอบเอาไปใช้มีวิธีการดังนี้
ความแตกต่างระหว่าง ก่อนขอความยินยอมให้ใช้ Cookie กับหลังให้ความยินยอมใช้ Cookie
เมื่อเราเข้าเว็บไซต์ครั้งแรก ในแถบ Cookie ไม่ควรมี Cookie ใด ๆ เลย ๆ ที่ไม่ใช่ Functional Cookie (ดังภาพด้านซ้าย)
แต่เมื่อเรากดยอมรับ Cookie แล้วรีเฟรช ถึงจะค่อยมี Cookie อันอื่น เข้ามาเยอะ ๆ (ดังภาพด้านขวา)
กรณีที่เปิดเว็บไซต์ครั้งแรกแล้วมี Cookie (Second/ Third party cookie) ออกมาแล้ว แสดงว่านักพัฒนาเว็บไซต์อาจจะตั้งค่าผิด ตัว Cookie มันส่งมาก่อน โดยไม่ได้รอการยืนยันจากผู้ใช้ก็เป็นได้
บทส่งท้าย
เกือบทั้งโลก ให้สิทธิผู้ใช้ในการเลือกที่จะให้ หรือไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ก็ตามแล้ว ฉะนั้นการเข้าใจ Cookie จะทำให้เราท่องเว็บไซต์อย่างมีสติไร้กังวลมากขึ้น ส่วนถ้าใครอ่านบทความเรื่อง Cookie แล้วเวียนหัว บางทีน้ำตาลคุณอาจจะตก จากการอ่านเรื่องซีเรียส ๆ ฉะนั้นอย่าลืมทานขนมคุ้กกี้ เพื่อคืนความสดชื่นกลับมานะครับ 🙂
มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?
หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้
แหล่งอ้างอิง:
What Are Cookies on a Computer?
ถาม – ตอบสั้น ๆ กับ Datayolk
Cookie คือไฟล์ขนาดเล็กที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของเรา เมื่อเราเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เว็บไซต์นั้นจะส่ง Cookie เข้ามาเก็บใว้ในเครื่องเรา โดยภายในไฟล์ Cookie จะเก็บ ID ของเราซึ่งเป็นตัวเลขที่สุ่มขึ้นไม่ซ้ำกันเพื่อให้ระบบจดจำผู้ใช้ได้
คาดเดาว่า น่าจะหยิบยกคำนี้มาจากนิทานเรื่อง Hansel and Gretel ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสองพี่น้องที่ถูกพาเข้าไปทิ้งในป่าใหญ่โดยพ่อ กับแม่เลี้ยง แต่ก็สามารถหนีออกมาได้โดยการแอบวางเศษคุ้กกี้ไว้ระหว่างทาง
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของ Cookie เลยคือมันจะจดจำการตั้งค่าของเราบนเว็บไซต์เช่น ภาษาที่ใช้ในเว็บไซต์ (ผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนภาษาใหม่ทุกครั้งที่เข้าหน้าเว็บไซต์) ขนาดตัวอักษรสำหรับผู้สูงอายุ ความแตกต่างของสีสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น หากไร้ซึ่งคุ้กกี้แล้ว ทุกครั้งที่ผู้ใช้เข้าเว็บไซต์ของเรา ผู้ใช้ต้องมาตั้งค่าสิ่งเหล่านี้ใหม่ทุกครั้ง
เว็บไซต์ของ Cookieserve จะให้เราใส่ URL ของเว็บไซต์ที่เราสนใจ ว่ามีการติดตั้ง Cookie อะไรไว้บ้าง แล้ว จะได้ผลลัพธ์ดังนี้ ซึ่งบอกชื่อ Cookie, แหล่งที่มาของ Cookie, หน้าที่การทำงาน และระยะเวลาในการจัดเก็บ
ไม่เสมอไป เพราะโดยปกติแล้วเวลาเราเข้าเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม มันคือการที่เครื่องคอมพิวเตอร์เราขอข้อมูลจากคอมพิวเตอร์อีกเครื่องนึง เหมือนตอนเราไปห้องสมุดแล้วขอยืมหนังสือจากบรรณารักษ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่บรรณารักษ์จะต้องบันทึกข้อมูลผู้มายืม ในโลกของอินเตอร์เน็ต อาจจะเป็น IP Address, Geolocation เป็นต้น