ถ้าอยากออกหนังสือเล่มใหม่ แต่ไม่ต้องการเขียนเอง เงินจำนวน 29 ล้านบาทจะสามารถจ้างนักเขียนให้เขียนหนังสือประเภท Non-fiction ได้ต่ำ ๆ ก็ 10 เล่ม ไปจนถึง 32 เล่ม
แต่ถ้านักวิจัยอยากตีพิมพ์บทความวิชาการ แต่ไม่ต้องการเขียนเอง เงินจำนวนเดียวกันนี้ ก็จะสามารถซื้อบทความวิชาการได้ 46 หัวข้อ บนเว็บไซต์ Science Publisher เช่นกัน
ในช่วงปีที่แล้ว (ประมาณต้นปี) มีข่าวว่านักวิชาการไทยใช้บริการเว็บไซต์ที่ขายความเป็นผู้แต่งบทความวิชาการ และมีอาจารย์หลายท่านเริ่มส่งเสียงให้ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดและผู้ซื้อออกมารับผิดชอบ เลยเป็นความสนใจของเราที่อยากจะไปขุดคุ้ยถึงเว็บไซต์ต้นทางดังกล่าว
เว็บไซต์ Science Publisher ขายงานวิจัยอย่างไร ?
จากการสำรวจเว็บไซต์ Science Publisher ที่มีบางส่วนของเว็บไซต์เปิดขาย (สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ) งานวิชาการ นั้น พบว่าบทความวิชาการที่ขายกันนั้น ไม่ใช่ขายทั้งบทความให้กับคนเดียว แต่เป็นการขายความเป็นเจ้าของร่วมกัน
วิธีใช้งานเว็บไซต์ Science Publisher คือการเข้าเว็บไซต์เพื่อหาหัวข้องานวิจัยจากรายการบนเว็บไซต์ ซึ่งหัวข้อเหล่านั้นได้ผ่านการอนุมัติให้ตีพิมพ์แล้ว ครอบคลุมทุกศาสตร์ ในสาขาวิชาการต่าง ๆ เช่น สังคมศาสตร์ การศึกษา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา สารสนเทศ ชีววิทยา การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดภูมิภาคที่จะนำไปตีพิมพ์ จากนั้นก็กดซื้อในตำแหน่งของผู้แต่งในลำดับที่ต้องการเช่น ผู้แต่งลำดับแรกราคา 1,500$ แล้วทำการจ่ายเงิน จากนั้นกระบวนการต่อจากนี้จะเป็นหน้าที่ของเว็บไซต์ ผู้ซื้อก็รอเห็นบทความที่ซื้อมาถูกตีพิมพ์พร้อมชื่อแต่งของเราอยู่ในชื่อแรกได้เลย
สำหรับคนที่อยากจะลองดูข้อมูลประกอบบทความสามารถโหลดไฟล์ข้อมูล และไฟล์รัน Web Scarping ได้ที่ Science Publisher Dataset
เราเรียนรู้อะไรจากข้อมูลบนเว็บไซต์ซื้อขายงานวิจัยได้บ้าง ?
ที่ผ่านมาเว็บไซต์ Science Publisher ถูกพูดชื่อหลายครั้ง คนในวงการวิชาการอาจพอเคยได้ยินมาบ้าง ดังนั้นการกล่าวถึงชื่อโดยตรงในบทความนี้ เราเชื่อว่าไม่ได้เป็นการชี้นำช่องทางการซื้องานวิจัยแต่อย่างใด ในมุมมองคนนอกที่พึ่งเคยรู้จักธุรกิจนี้ก็ขอเล่าสิ่งที่เจอมาด้วยข้อมูล และพยายามสังเกตจากสิ่งที่พอเห็นได้และสื่อสารเท่านั้น
อัพเดตมูลค่าการขายบทความปี 2024
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Science Publisher เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปี 2024 จำนวน 156 หัวข้อบทความ ที่ประกาศขายเมื่อไตรมาสที่ 1 ปี 2024 เพื่อรอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการใน Q1 2024 และ Q2 2024 [1] จึงขออนุมานว่า ในปี 2024 คาดว่าจะมีบทความที่ขายในเว็บไซต์นี้ราว 600 บทความ มูลค่ารวมทั้งปีจะอยู่ราว ๆ 100 ล้านบาท [2]
หมายเหตุ [1]
- Journal Quartile 1 วารสารที่มีลำดับการตีพิมพ์ลำดับแรก หรือ Top Position 25% ของวารสารที่จะตีพิมพ์เป็นกลุ่มวารสารที่ดีที่สุดสาขา/หมวดหมู่
- Journal Quartile 2 วารสารที่มีลำดับการตีพิมพ์ลำดับสอง หรือ Mid-high Position 26%-50% ของวารสารที่จะตีพิมพ์เป็นกลุ่มวารสารที่ดีที่สุดสาขา/หมวดหมู่รองลงมาจากกลุ่มแรก
- Journal Quartile 3 วารสารที่มีลำดับการตีพิมพ์ลำดับสาม หรือ Mid-low Position 51%-75% ของวารสารที่จะตีพิมพ์
- Journal Quartile 4 วารสารที่มีลำดับการตีพิมพ์ลำดับสุดท้าย หรือ Bottom Position 76%-100% ของวารสารที่จะตีพิมพ์
หมายเหตุ [2]
- ใช้การสมมติว่ามีบทความขายอยู่ที่ไตรมาสละ 150 หัวข้อ รวมทั้งปีมี 600 หัวข้อ มูลค่ารวมทั้งปีจะอยู่ราว ๆ 116 ล้านบาท คำนวณจากการอ้างอิงมูลค่าขาย Q4 2023 จำนวน 29 ล้านบาท คาดว่าว่าในสามไตรมาสที่ผ่านมามีมูลค่าการขายเท่ากัน
- ใช้การสมมติว่ามีบทความขายอยู่ที่ไตรมาสละ 150 หัวข้อ รวมทั้งปีมี 600 หัวข้อ มูลค่ารวมทั้งปีจะอยู่ราว ๆ 100 ล้านบาท คำนวณจากการอ้างอิงมูลค่าขาย Q1 2024 จำนวน 25 ล้านบาท คาดว่าว่าในสามไตรมาสข้างหน้ามีมูลค่าการขายเท่ากัน
บทความวิจัยที่ขายมีหลากหลายช่วงราคา
จากการวิเคราะห์ราคาขายบนเว็บไซต์จะเห็นได้ว่าราคาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง
ช่วงราคาที่ต่ำที่สุดอยู่ระหว่าง $500 ถึง $1,325
ช่วงราคาปานกลางจะอยู่ที่ระหว่าง $1,375 ถึง $1,850
และช่วงราคาที่สูงที่สุดอยู่ระหว่าง $2,000 ถึง $2,100
ซึ่งปัจจัยด้านราคาถูกหรือแพง ถูกกำหนดโดยตำแหน่งของผู้แต่งบทความ ประเภทความเชี่ยวชาญ และภูมิภาคที่จะนำไปตีพิมพ์
ผู้เขียนลำดับแรกมีราคาขายสูงกว่าลำดับอื่น ๆ
ผู้แต่งลำดับที่หนึ่งจะมีราคาสูงกว่าลำดับอื่น ๆ ส่วนใหญ่ผู้แต่งลำดับที่หนึ่งจะตั้งราคามากกว่าลำดับที่สองอยู่ประมาณ $50 ถึง $150 และต่างจากลำดับที่สามและลำดับสี่ ประมาณ $150-$300 ส่วนลำดับที่ห้ามักตั้งราคาต่ำที่สุดซึ่งห่างจากลำดับแรกโดยประมาณ $500 ถึง $800
เพื่อที่จะพอให้เห็นภาพจะขอยกตัวอย่างราคาขายบทความจากสาขา Computer and Information Sciences ที่ตั้งราคาผู้แต่งคนแรก $1,550 คนที่สอง $1,500 คนที่สาม $1,450 คนที่สี่ $1,400 และคนสุดท้าย $750
ราคาขายแบ่งได้สามช่วงราคา สูง-กลาง-ต่ำตามหมวดหมู่ทางวิชาการ (Speciality)
จากข้อมูลในเว็บไซต์ Science Publisher ณ วันที่เตรียมข้อมูลพบว่าราคาถูกแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงราคาต่ำระหว่าง $500 ถึง $1,325 ช่วงราคาปานกลางอยู่ระหว่าง $1,375 ถึง $1,850 และช่วงราคาสูงอยู่หว่าง $2,000 ถึง $2,100 สามารถจัดช่วงราคาอ้างอิงตามประเภทความเชี่ยวชาญได้ดังนี้
- ช่วงราคาสูง ประกอบด้วย Medicine และ Architecture
- ช่วงราคาปานกลาง ประกอบด้วย Agriculture, Transport and Engineering Sciences, Mathematics, Computer and Information Sciences, Building and Construction และ Biology
- ช่วงราคาต่ำ ประกอบด้วย Sociology, Political science, Marketing, Law, Language & Linguistic, Education และ Economics
มูลค่าการซื้อบทความกว่า 70% ถูกตีพิมพ์ในยุโรป
ยุโรปมีการตอบรับให้บทความวิจัยจาก Science Publisher ถูกตีพิมพ์มากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่ราคาเฉลี่ยของบทความที่กำลังจะถูกตีพิมพ์ในยุโรปแพงกว่าภูมิภาคอื่นเมื่อเปรียบเทียบกับความเชี่ยวชาญประเภทเดียวกัน ยกเว้น Agriculture, Biology และ Education ที่ภูมิภาคเอเชียมีราคาแพงกว่า และการตีพิมพ์ Computer and Information Sciences ในตะวันออกกลางแพงกว่าในยุโรป
ซื้อบทความเสร็จแล้วยังไงต่อ
หลังจากบทความถูกขายไปครบทุกตำแหน่งแล้ว ชื่อบทความนั้นจะถูกลบออกไป และก่อนที่บทความนั้นจะถูกตีพิมพ์จะมีการเปลี่ยนชื่อ ทำให้การตรวจสอบบทความที่น่าสงสัยอาจจะทำได้ยากขึ้น แต่การตรวจสอบจากฐานข้อมูลผู้ยื่นขอทุนวิจัยก็ยังมีความเป็นได้อยู่ เช่น ประวัติความเชี่ยวชาญ ความถี่ของการตีพิมพ์งานวิจัย และแรงจูงใจที่ส่งผลให้ทำวิจัยในศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีในฐานข้อมูลเดิม (ในกรณีที่ไม่พบประวัติจากฐานข้อมูลเดิม)
อ้างอิง หรือแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง
อยากมาทำงานสาย Data ใช่มั้ย?
เรามี Workshop Data Interview ที่จะช่วยคุณเตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งาน ผ่านการทำ Case Interview