เพราะ 1 ในอุปสรรคสำคัญของการใช้ข้อมูลในภาคธุรกิจ คือคุณภาพของข้อมูล จึงทำให้หลายบริษัทกำลังมองหาช่องทางลัดในการดึงศักยภาพของข้อมูลมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว

ในเมื่อการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นยากลำบาก ก็ซื้อข้อมูลไปซะเลยสิ นั่นเป็นความคิดแรกที่ทำให้เกิด Data Marketplace หรือแพลตฟอร์มซื้อขายข้อมูล

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ -

Data Marketplace คืออะไร ?

Data Marketplace คืออะไร ?
Data Marketplace คืออะไร ?

Data marketplace หรือตลาดข้อมูล คือแพลตฟอร์มที่พาผู้ที่สนใจซื้อข้อมูล กับผู้ที่สนใจขายข้อมูลมาเจอกัน

โดยเหตุผลที่ทำให้เกิดความต้องการในการซื้อขายข้อมูล สามารถจำแนกเหตุผลได้ผ่านบริษัท 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 บริษัทที่เริ่มเก็บข้อมูลด้วยตัวเองจากศูนย์

มีผลวิจัยจาก Forrester Consulting ว่ากว่า 70% ของบริษัทที่ได้เริ่มโปรเจค Data จากเริ่มต้น เริ่มตระหนักได้ว่าการเริ่มเก็บข้อมูลเองอย่างมีคุณภาพ มีต้นทุน และมีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ตัวบริษัทเหล่านี้ก็เลยสนใจการซื้อข้อมูลมาเพื่อใช้งานโปรเจคของตัวเองแทนที่จะเริ่มเก็บข้อมูลด้วยตัวเองจากศูนย์

กลุ่มที่ 2 บริษัทที่เก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่ต้องการข้อมูลจากแหล่งภายนอก เพื่อพัฒนาโปรเจคเพิ่มเติม

อีกรูปแบบคือบริษัทมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลที่ดี มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบมาอย่างยาวนาน ตัวข้อมูลมีคุณภาพสูง และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อยู่แล้ว

แต่เพื่อพัฒนาโปรเจค Data ในองค์กรตัวเอง ตัวบริษัทต้องการเพิ่มสมรรถภาพของโปรเจค ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากองค์กรอื่น หรือข้อมูลจากบุคคลที่สาม (External data) มาประกอบด้วย ตัวบริษัทเหล่านี้ก็เลยสนใจการซื้อข้อมูลมาเพื่อใช้พัฒนางานโปรเจคของตัวเอง

กลุ่มที่ 3 บริษัทที่เก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

กลุ่มสุดท้ายมีค่าใช้จ่ายด้านการเก็บข้อมูลสูงอยู่แล้ว แต่ยังใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ไม่เต็มที่ ตัวบริษัทเหล่านี้ก็เลยสนใจการขายข้อมูลในฐานะทรัพย์สินแบบหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจาก Sensor จาก Smart device ต่าง ๆ

นอกจากมีความต้องการซื้อขายจากบริษัททั้ง 3 กลุ่มแล้ว อีกสิ่งที่ช่วยให้การซื้อขายข้อมูลมีความเป็นไปได้มากขึ้น คือการพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล (Data security) โดยใช้ Blockchain ดังตัวอย่างเช่น Datapace และ Ocean Protocol ที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain มาดูแลเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย (โดยการเข้ารหัส และจัดการธุรกรรมด้วย Smart contract)

แล้วข้อมูลแบบไหนที่ซื้อขายกันในตลาดได้ ?

ในส่วนนี้เราจะพามาดูประเภทข้อมูลที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดทั้ง 3 รูปแบบ

Personal data หรือ ข้อมูลส่วนบุคคล

ในกรณีนี้คือข้อมูลส่วนบุคคลที่ตัวบุคคลยินยอมโดยสมัครใจว่าจะขายข้อมูลนั้นเอง ซึ่งรวมไปถึง ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานบนโลกออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มที่จัดทำการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลนั้น

ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกใช้เป็น Personal data storage อยู่แล้ว และมีบริการเสริมสำหรับผู้ใช้ที่จะสามารถเลือกขายข้อมูลบางส่วนของตัวเองไปให้คนอื่นได้ โดยตัวแพลตฟอร์มจะรวบรวมและจัดหาผู้ซื้อให้อัตโนมัติ เช่น Datum ,Zoominfo และ Datawallet

Business data หรือข้อมูลองค์กรธุรกิจ

ข้อมูลธุรกิจมีการซื้อขายกันมานานแล้ว สำหรับธุรกิจประเภท B2B ที่เน้นขายสินค้า และบริการกับธุรกิจด้วยกันเอง

โดยข้อมูลธุรกิจจะถูกซื้อเพื่อนำไปใช้วางแผน Account based Marketing ซึ่งข้อมูลที่ซื้อขายกันมีตั้งแต่ข้อมูล Financial Information ของธุรกิจนั้น (DueDil, Crunchbase), ข้อมูลช่องทางติตต่อผู้บริหารใหญ่ หรือแม้แต่โครงสร้างเทคโนโลยีในองค์กร Tech stack (Datanyze, Whatruns)

Sensor/IoT data หรือข้อมูลจากเซนเซอร์

ข้อมูลจาก Real-time Sensor ของ Smart device ซึ่งมีหลากหลายมากตั้งแต่ข้อมูลการเกษตรในท้องที่ ข้อมูลสภาพอากาศ และอื่น ๆ เช่น agricultural data ของ UK ที่นักพัฒนาซื้อไปเพื่อพัฒนา Machine learning ที่เกี่ยวกับการเกษตร และ Public Policy

เอาจริง ๆ แล้ว Big Data ในเชิงความหมายเรื่อง Volume, Velocity, Variety และ Veracity จริง ๆ แล้วเขากล่าวถึงข้อมูลจาก Sensor เป็นส่วนใหญ่

มาลองทัวร์เว็บไซต์ขายข้อมูลกันเถอะ

ทัวร์เว็บไซต์ Agrimetrics เว็บไซต์ซื้อขายข้อมูล Dataset ด้านการเกษตร

Agrimetrics เว็บไซต์ที่รวบรวม Dataset ด้านการเกษตร
Agrimetrics เว็บไซต์ซื้อขายข้อมูล Dataset ด้านการเกษตร

Agrimetrics เป็นเว็บไซต์ซื้อขายข้อมูล Dataset ด้านการเกษตร โดยมีการซื้อขายตั้งแต่ ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ (ค่าความด่าของดินแต่ละท้องที่) ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลพยากรณ์อากาศและอื่น ๆ

Data Catalogue ของ Agrimetrics
Data Catalogue ของ Agrimetrics

ภายในเว็บไซต์ ผู้ซื้อสามารถ Search หา Dataset ที่ต้องการได้ผ่าน Data Catalogue ซึ่งมีหน้าตาเหมือนเว็บไซต์ข้อมูลเปิดทั่วไป และยังเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับ Dataset ชุดนั้นได้อีกด้วย (บางอันก็เอามาใช้ได้ฟรี ๆ)

ค่าบริการการใช้งาน Platform Agrimetrics
ค่าบริการการใช้งาน Platform Agrimetrics

สำหรับค่าบริการการใช้งานจะเป็นลักษณะการเหมาจ่ายรายปี เริ่มต้นที่ £600 (2 หมื่นกว่าบาท) ไปจนถึง £15,000 (6 แสนกว่าบาท)

ทัวร์เว็บไซต์ Ocean Market เว็บไซต์ซื้อขายข้อมูล Dataset ผ่านระบบ Blockchain

Ocean Market เว็บไซต์ซื้อขายข้อมูล Dataset ผ่านระบบ Blockchain
Ocean Market เว็บไซต์ซื้อขายข้อมูล Dataset ผ่านระบบ Blockchain

Ocean Market เป็นตลาดข้อมูลที่มี Dataset ที่หลากหลาย และชูโรงบริการของตัวเองด้วยการใช้ระบบ Blockchain ในการดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนี้การซื้อจะไม่ได้ซื้อผ่านสกุลเงินโดยตรง แต่ต้องไปซื้อ Credit หรือ Coin ของ Ocean Market ที่เรียกว่า Pool

Data Catalogue ของ Ocean Market
Data Catalogue ของ Ocean Market
ตัวอย่างชุดข้อมูลที่ซื้อขายกันบน Ocean Market
ตัวอย่างชุดข้อมูลที่ซื้อขายกันบน Ocean Market

โดยชุดข้อมูลที่เราจะหยิบยกตัวอย่างที่มีการซื้อขายกันคือ ข้อมูลสินค้าที่ขายบน eBay กว่า 1,000,000 ชิ้น (ข้อมูลพวกนี้เปิดสาธารณะอยู่แล้ว ผู้จัดทำแค่ไปดูดข้อมูลมาเท่านั้น)

ใน Ocean Market รูปแบบการซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อแบบต่อชิ้น กล่าวคือถ้าคุณสนใจ Dataset อันไหน คุณก็จ่ายเงินซื้ออันนั้น

ความท้าทายของแพลตฟอร์มตลาดข้อมูล

ความท้าทายของแพลตฟอร์มตลาดข้อมูล
ความท้าทายของแพลตฟอร์มตลาดข้อมูล

ถึงแม้ว่า แพลตฟอร์มตลาดข้อมูล จะเป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ก็ยังมีความท้าทายหลาย ๆ อย่างเพื่อให้ตลาดทำงานได้ดี ดัง 3 ข้อต่อไปนี้

Lack of trust and security

การซื้อขายข้อมูลภายในไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล หรือในระดับภาคธุรกิจ สิ่งที่ทุกกลุ่มยังคงมีความกังวลอยู่คือ ความปลอดภัยของข้อมูลที่ผู้ขายจะมาฝากขาย กรณีที่เห็นได้ชัดคือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคู่แข่งทางตรงของเราแอบซื้อข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อนำไปทำสินค้าแข่งกับเรา รวมถึงตัวแพลตฟอร์มจะชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร หากข้อมูลได้ถูกรั่วไหลออกไป

Perception of Value

เนื่องด้วยข้อมูลที่ซื้อขายยังมีความหลากหลาย และยังไม่มีราคากลางที่แท้จริงในการซื้อขายข้อมูล คนที่จ่ายเงิน กับคนที่เสนอซื้อยังมีความเห็นเรื่องราคาไม่ตรงกัน ทำให้ประเมินราคายาก และความคุ้มค่ายาก (โดยเฉพาะราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมในการทำให้ข้อมูลมีคุณภาพ)

รวมถึงกลไกการตั้งราคาในตัวแพลตฟอร์มเองก็ยังมีระบบการตั้งราคาที่หลากหลายตั้งแต่

  • ระบบ Subscription แบบ เหมาจ่ายรายเดือนใช้ข้อมูลเท่าไหร่ก็ได้
  • ระบบ Fixed Price มีราคาที่ชัดเจน แต่มีช่วงเวลาจำกัดในการเข้าถึงโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน
  • ระบบ Pay per use มีราคาที่คำนวนจากจำนวน Record ที่ดึงไปใช้ ส่วนใหญ่ข้อมูลที่คิดราคาแบบนี้ คือข้อมูลที่มาจาก Sensor กลุ่ม IoT ที่มีข้อมูลแบบ Real-time
  • ระบบ Progressive price การขายข้อมูลโดยผู้ซื้อข้อมูลในชุดหลัง ๆ จะมีราคาที่ปรับตามจำนวน License ที่ขายออกไป โดยราคาจะแพงขึ้นตามจำนวน License ที่เพิ่มขึ้นในระบบ เพื่อลดการกระจายตัวของข้อมูล

กฏหมายที่ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องการซื้อขายข้อมูล

ข้อมูลถูกคุ้มครองเป็นทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่งเหมือน Source code และงานศิลปะ แต่โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ข้อมูลไม่ชัดเจน ทำให้การใช้งานแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายข้อมูล ต้องถูกใช้งานอย่างระมัดระวัง และทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง (ในกณีนี้ไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่มีกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค)

==== บทส่งท้าย ====

ตลาดข้อมูลเป็นโอกาสของใคร ? ตลาดข้อมูลเป็นโอกาสของคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมข้อมูล เพราะตลาดข้อมูลจะส่งเสริมให้มีการกระจายข้อมูลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรเอกชนที่มีข้อมูลคุณภาพสูง มีต้นทุนในการเก็บข้อมูลสูงแต่ไม่รู้จะสร้างประโยชน์อย่างไร

ผู้เขียนเชื่อว่า Data marketplace จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลข้ามอุตสาหกรรมได้มากยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจใหม่ ๆ ในการเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปขายต่อไปในอนาคต

มีคำถามสงสัยเพิ่มเติม ?

หากคุณสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เราเขียน สิ่งที่เราทำ และโครงการที่เราตั้งใจจะดำเนินงานในอนาคต คุณสามารถติดต่อพูดคุยกับเราได้


ขอบคุณแหล่งอ้างอิง:

ถาม – ตอบสั้น ๆ กับ Datayolk

Data Marketplace คืออะไร ?

Data Marketplace คือแพลตฟอร์มซื้อขายข้อมูลในทางธุรกิจตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคล, ข้อมูลองค์กรธุรกิจ ไปจนถึงข้อมูลจาก IoT Sensor โดยแพลตฟอร์ม Data Marketplace เหล่านี้จะเป็นคนตรวจสอบ และคัดเลือกชุดข้อมูลเพื่อให้ฝ่ายซื้อข้อมูลได้ข้อมูลที่มีคุณภาพจริง ๆ

ใครจะได้ประโยชน์จาก Data Marketplace ?

คนที่จะได้ประโยชน์จาก Data Marketplace มี 3 กลุ่มดังนี้
1. บริษัทที่อยากได้ชุดข้อมูลเพื่อไปพัฒนาสินค้าของตัวเอง แต่ไม่อยากเริ่มเก็บข้อมูลเองทั้งหมด
2. บริษัทที่มีการเก็บข้อมูลบางส่วนแล้ว แต่อยากได้ชุดข้อมูลจากภายในมาพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
3. บริษัท หรือกลุ่มบุคคลที่เก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็สามารถมาขายในตลาดข้อมูลนี้ได้

ความท้าทายของแพลตฟอร์มตลาดข้อมูล ?

ถึงแม้ว่า แพลตฟอร์มตลาดข้อมูล จะเป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ก็ยังขาดความชัดเจนในเรื่องกฏหมาย หากตัวแพลตฟอร์มเกิดทำข้อมูลหลุดเอง หรือเกิดการแฮก หรือก็อปปี้ข้อมูลก็ยังไม่มีข้อกฏหมายชัดเจนที่คุ้มครองเรื่องนี้มากนัก ประกอบกับการตั้งราคาของแต่ละชุดข้อมูล ยังทำได้ยาก